ภาพเล่าเรื่อง : เกือบ 1/3 ของผลไม้ไทยนำเข้าที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

19 Sep 2019

      

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลที่มีการนำเข้าผลไม้มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากมณฑลกวางตุ้ง และนครเซี่ยงไฮ้ (สัดส่วนการนำเข้าต่อการส่งออกผลไม้ของกว่างซีอยู่ที่ 72.92:27.08) เป็นผลไม้ที่นำเข้าจากอาเซียนมีสัดส่วน 99.21% โดยผลไม้ไทยกับเวียดนามมีสัดส่วน 99.19% ของการนำเข้าทั้งมณฑล

การค้าผลไม้ระหว่างกว่างซีกับไทย มีมูลค่ารวม 4,045 ล้านหยวน เป็นการนำเข้า 4,044 ล้านหยวน (สัดส่วน 99.96% ของการค้าผลไม้สองฝ่าย) และส่งออกลูกพลับแห้งไปไทยมูลค่า 1.68 ล้านหยวน เพียงรายการเดียว โดยผลไม้ไทยที่กว่างซีนิยมนำเข้า ได้แก่ ทุเรียน (สัดส่วน 71.20% ของการนำเข้าจากไทย) มังคุด (สัดส่วน 25.41%) ลำไยสด (สัดส่วน 1.92%) ผลไม้และลูกนัต (สัดส่วน 1.2%)

กว่างซีเป็นมณฑลที่มีด่านที่ได้รับอนุญาตการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศมากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ปี 2562 มีด่านทั้งหมด 7 แห่ง แบ่งเป็นทางบก 4 แห่ง (ด่านโหย่วอี้กวานในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงสามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้เพียงด่านเดียว และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มด่านตงซิงในอำเภอระดับเมืองตงซิงอยู่) ทางน้ำ 2 แห่ง (ด่านท่าเรือชินโจว และด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง) และทางอากาศ 1 แห่ง (ท่าอากาศยานเหลียงเจียงเมืองกุ้ยหลิน)

แนวโน้มการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวานและด่านท่าเรือชินโจวเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของกว่างซีที่มีพรมแดนติดประเทศเวียดนามและใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น อีกทั้ง สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดผลไม้ ทำให้ผลไม้ไทยไม่สามารถสวมสิทธิเป็นผลไม้เวียดนามเข้าด่านที่เป็นจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนได้ ผู้นำเข้าจึงต้องนำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวานตามพิธีสารฯ

อย่างไรก็ดี การนำเข้าผลไม้ยังขาดความหลากหลายด้านชนิดของผลไม้ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการเชิงรุกในการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ผลไม้ชนิดอื่น รวมทั้งศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการนำเข้าสินค้าผลไม้ไทย หรือเพื่อจำหน่ายต่อไปยังตลาดหรือผู้ซื้อรายย่อยในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะพื้นที่จีนตอนในที่ยังมีปริมาณการนำเข้าน้อย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน
ภาพประกอบ BIC Nanning

ผลไม้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน