GANSU

มณฑลกานซู

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ตอนบนของแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) มีพื้นที่ประมาณ 454,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศจีน พื้นที่ของมณฑลประกอบด้วย ภูเขา ร้อยละ 30 ทุ่งหญ้า ร้อยละ 30 ทะเลทราย ร้อยละ 20 ป่า ร้อยละ 10 และพื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 10

ทิศเหนือ ติดกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศมองโกเลีย และเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
ทิศใต้ ติดกับมณฑลเสฉวน
ทิศตะวันออก ติดกับเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย และมณฑลส่านซี
ทิศตะวันตก ติดกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และมณฑลชิงไห่

ลักษณะภูมิประเทศทางตอนใต้อยู่ในเขตกึ่งร้อนชื้นเอเชีย ทางตอนเหนือ เป็นเขตภูเขาสูงที่เขียวชอุ่ม และทอดตัวยาวเหยียดถัดต่อจากแนวเทือกเขาฉินหลิ่ง มีหุบเขาลึก และมีแม่น้ำไหลผ่าน ทางตะวันออกและตอนกลางมีป่าสนเขียว มีแม่น้ำฮวงโหไหลผ่าน มีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน อาทิน้ำมัน และถ่านหินสะสมอยู่มาก ทางทิศตะวันออกของที่ราบสูงชิงจั้งเป็นเขตปศุสัตว์ที่สำคัญ เนื่องด้วยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งทุ่งหญ้า ทางตะวันตกติดกับแม่น้ำฮวงโหและอยู่ในเขตอบอุ่นที่มีทะเลทราย จึงเป็นแหล่งที่ราบเพาะปลูกที่สำคัญของมณฑล เนื่องด้วยมีน้ำและแสงแดดอุดมสมบูรณ์

ข้อมูลประชากร

สถิติจากสำนักงานสำรวจประชากรมณฑลกานซู ปี 2560 มณฑลกานซูมีประชากรรวม 26.09 ล้านคน แบ่งเป็นชนชาติฮั่น ร้อยละ 90.6 และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ร้อยละ 9.4

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ค่อนข้างแห้งแล้ง และมีฝนตกน้อย มี 4 ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 0-16 องศาเซลเซียส และเนื่องด้วยพื้นที่ต่างๆ ในมณฑลกานซูมีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่างกัน ทำให้แต่ละแห่งมีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 36.6 – 734.9 มิลลิลิตร/ปี และปริมาณน้ำฝนร้อยละ 50-70 วัดได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งมีฝนมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และน้อยลงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

ทรัพยากรสำคัญ

มณฑลกานซูมีทรัพยากรด้านพลังงานเป็นจำนวนมาก ข้อมูลสถิติ ปี 2557 มีปริมาณถ่านหินสำรอง 22,770 ล้านตัน มีปริมาณน้ำมันปิโตรเลียมสำรองทั้งหมด 218.78 ล้านตัน และปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรอง 25,610 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณ Hexi Corridor ของมณฑลยังสามารถรับแสงอาทิตย์ได้ปริมาณมาก และมีกระแสลมแรง ทำให้เป็นแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมอีกด้วย

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

มณฑลกานซูปกครองโดยเทศบาลมณฑลขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง มีผู้ว่าการมณฑลเป็นผู้บริหารสูงสุด แบ่งการปกครองเป็น 12 เมือง และ 2 เขตปกครองตนเอง

  • เมืองเอกของมณฑล คือ นครหลานโจว
  • 12 เมืองที่ขึ้นตรงต่อมณฑล ได้แก่ นครหลานโจว (เมืองเอกของมณฑล) เมืองจิ่วเฉวียน เมืองจินฉาง เมืองเทียนสุ่ย เมืองเจียยวี่กวน เมืองอู่เวย เมืองจางเยี่ย เมืองไป๋อิ๋น เมืองผิงเหลียง เมืองชิ่งหยาง เมืองติ้งซี และเมืองหล่งหนาน
  • เขตปกครองตนเอง มี 2 นคร ได้แก่ เขตปกครองตนเองหลินเซี่ย และเขตปกครองตนเองกานหนาน

ผู้บริหารฝ่ายการเมือง

นายหยิ่น หง (Yin Hong)

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ (ตั้งแต่ มี.ค. 2564) ประธานสภาผู้แทนประชาชน (ตั้งแต่ เม.ย. 2564)

นายเหริ่น เจิ้นเห้อ (Ren Zhenhe)

ผู้ว่าการมณฑล (ตั้งแต่ ม.ค. 2564)

นายโอวหยาง เจียน (Ouyang Jian)

ปธ.สภาที่ปรึกษา ทางการเมือง (ตั้งแต่ ม.ค. 2561)

ติดตามข่าวสารของรัฐบาลมณฑลกานซูได้ที่ http://mhwz.gansu.gov.cn/en/

ดาวน์โหลดข้อมูลพื้นฐาน มณฑลกานซู

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

1. นครหลานโจว

นครหลานโจว ถือเป็นเมืองที่สำคัญบนเส้นทางสายไหมโบราณ เมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมแม่น้ำเหลือง เป็นแหล่งวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย และติดอันดับ 1 ใน 7 เมืองทางทหารที่ใหญ่ที่สุดของจีน

 วิวยามค่ำคืนของสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเหลือง

หลานโจวมีพืชสมุนไพรจีนจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ ชะเอมเทศ (liquorice) ตังกุย (angelica) และโสมต่างเสิน (radix codonopsitis) เป็นแหล่งของสัตว์หายาก อาทิเช่น นกกระสาดำ นกTibetan Snowcock เสือดาวหิมะ และไก่หนวดสีน้ำเงิน (Blue-eared Pheasant) ด้านการเกษตร หลานโจวเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องการปลูกแตง โดยมีปริมาณการผลิตแตงถึงปีละกว่า 70,000 ตัน อาทิเ่ช่น แตงเนื้อขาว Honeydew แตงฮวงเหอ (เปลือกสีเหลือง เนื้อในสีขาว) แตงโม และแตงโมจื่อกวา นอกจากนี้ หลานโจวยังมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ ป่ายเหอ ดอกกุหลาบ เม็ดก๋วยจี๊ (เมล็ดแตงโม) และกล้องยาสูบชนิดน้ำ มีอุตสาหกรรมที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่

1) อุตสาหกรรมน้ำมัน มีโรงงานกลั่นน้ำมันหลานโจวและโรงงานอุตสาหกรรมเคมีหลานโจวเป็นหลัก โดยมีโครงการสำคัญคือ โครงการแปรรูปน้ำมันดิบ 10 ล้านตัน โครงการก๊าซเอธิลีน (ethylene) 600000 ตัน และโครงท่อส่งก๊าซจากหลานโจวไปมณฑลเสฉวน

2) อุตสาหกรรมโลหะ เช่น อลูมิเนียม ยางสังเคราะห์ไนไตรล์ เหล็กกล้า ferro silicon และตะกั่วดำ

3) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เช่น เครื่องจักรเพื่อการขุดเจาะน้ำมันและกลั่นน้ำมัน รถยนต์ที่ใช้วิ่งในที่ราบสูง หม้อแปลงไฟฟ้าแกนเหล็ก มอเตอร์ชนิดใหม่ ปั๊มน้ำพิเศษ และเครื่องจักรเพื่อทำเหมืองแร่

4) วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ วัสดุชนิดเบาต่าง ๆ เซรามิค หินอ่อน หินแกรนิต และยิปซัมชนิดเบา

5) อุตสาหกรรมเบา เช่น การผลิตพลาสติก ยาจีน สิ่งทอ การแปรรูปสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล

 

ด้านการคมนาคม หลานโจวมีเส้นทางรถไฟหลัก 4 เส้นทางสำคัญ ได้แก่

 

1) ทิศตะวันออก ได้แก่ เส้นทางรถไฟหลงไห่ (ผ่าน 5 มณฑลคือ เจียงซู อันฮุย เหอหนาน ส่านซีและกานซู)

2) ทิศตะวันตก ได้แก่ เส้นทางรถไฟหลานโจว – ซินเจียง

3) ทิศตะวันตก ได้แก่ เส้นทางรถไฟหลานโจว – ชิงไห่

4) ทิศเหนือ ได้แก่ เส้นทางรถไฟหลานโจว – เปาโถว นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเส้นทางเพิ่มที่สำคัญ เช่น เส้นทางรถไฟหลานโจว – ฉงชิ่ง , หลานโจว – เป่าจี (มณฑลส่านซี) และหลานโจว – เหอเฝย (มณฑลอันฮุย) ส่วนการเดินทางด้วยรถโดยสารมีสถานีที่สำคัญ 2 แห่ง คือ สถานีเดินรถหลานโจว และสถานีเดินรถซีจ้าน

2. นครเทียนสุ่ย

นครเทียนสุ่ยตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกานซู เป็นเมืองพรมแดนที่เชื่อมต่อระหว่างส่านซี กานซู และเสฉวน มีแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำเหลืองพาดผ่าน เป็นหนึ่งในบริเวณที่มีทรัพยากรดินและสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมมากที่สุดในเขตภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เพาะปลูกธัญพืชหลัก 10 ชนิดและพืชเศรษฐกิจอีกกว่า 20 ชนิด เป็นแหล่งผลิตผักและผลไม้ติดคุณภาพดีอันดับแนวหน้าของจีน สินค้าเกษตรเด่นได้แก่ แอปเปิ้ล ลูกท้อ ลูกแพร วอลนัท ชวนเจียหรือพริกหอม พริก และกุ้ยช่าย เหล่านี้เป็นผลผลิตหลักและมีปริมาณการผลิตสูง เป็นเมืองที่มีพื้นที่ป่าธรรมชาติมากที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

ถ้ำผาพุทธศิลป์ม่ายจีซาน

เนื่องด้วยเป็นเมืองพรมแดนระหว่าง 3 มณฑล และตั้งอยู่ระหว่างนครซีอานของส่านซีและนครหลานโจวของกานซู เทียนสุ่ยมีเส้นทางรถไฟหลงไห่พาดผ่านตลอดเมือง มีทางด่วนระดับประเทศสาย 310 และ 316 ตัดผ่านจากทิศตะวันออกสู่ตะวันตก ทางด่วนระดับมณฑล 5 เส้นตัดผ่านเป็นระยะจากทิศเหนือสู่ใต้ เป็นเมืองจุดเริ่มต้นเขตตะวันตกของเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ซีหลงไห่หลาน และเป็นศูนย์กลางโลจิสติกค์ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของกานซู

3. เมืองจิ่วเฉวียน

ในเขตทะเลทราย Badain Jaran ทางทิศตะวักออกเฉียงเหนือของจิ่งเฉวียนเป็นเขตที่มีการก่อสร้างฐานส่งดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ของจีน ซึ่งในขณะเดียวกันยังเป็นสถานีส่งยานขนส่งอวกาศและยานสำรวจอวกาศอีกหลากหลายชนิด มีความทันสมัยพร้อมสำหรับการส่งดาวเทียมวงโคจรระยะต่ำและระยะกลาง

  แหล่งท่องเที่ยวซีฮั่นจิ่วเฉวียน

จิ่วเฉวียนมีแร่ทังสเตนมากเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย และมีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันหล่าวจุนเมี่ยวเป็นฐานพลังงานยุคเริ่มแรกของจีน ปัจจุบันมีโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4 แห่ง สถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กอีก 27 แห่ง และโครงการฐานสาธิตไฟฟ้าพลังงานลมกำลังผลิต 10 ล้านกิโลวัตต์แห่งแรกของจีน

การคมนาคม มีเส้นทางรถไฟหลานซิน และทางหลวงระดับประเทศหมายเลข 312 พาดจากตะวันออกสู่ตะวันตก ทางหลวงระดับประเทศหมายเลข 215 พาดจากเหนือสู่ใต้ และอยู่ในเส้นทางการค้าใหม่ทวีปเอเชีย-ยุโรป

4. นครติ้งซี

ติ้งซีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีทำเลที่ตั้งโดดเด่น อยู่บริเวณต้นกำเนิดของแม่น้ำเหลือง มีการค้นพบอารยธรรมสมัยยุคหินใหม่เช่น อารยธรรมหม่าเจียเหยา อารยธรรมจี้เจีย อารยธรรมซื่อวา เป็นต้น ทั้งยังเป็นหนี่งในเมืองสำคัญใน “เส้นทางสายไหม” เส้นทางการค้าสำคัญในอดีตกาล

   ทะเลหมอกภูเขาไท่ไป๋

ในปัจจุบัน ติ้งซีเป็นหนึ่งในเมืองแห่งสะพานการค้าใหม่ทวีปเอเชีย- ยุโรป และเป็นเสมือนประตูใหญ่ทางตะวันออกของมณฑลกานซูสู่นครหลานโจวแห่งเขตหนิงเซี่ย ด้วยระยะทางเพียง 98 กิโลเมตร เส้นทางคมนาคมหลักได้แก่ทางรถไฟหลงไห่ และทางหลวงระดับประเทศหมายเลข 310 312 212 และ 316

ติ้งซีเป็นเมืองที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีสภาพอากาศและแร่ธาตุในดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชสมุนไพรและมันฝรั่ง ค่าความแตกต่างของอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนสูง เหมาะสมแก่การเพาะปลูกไม้ดอกนานาชนิด พืชที่ให้กลิ่นหอม รวมไปถึงแบคทีเรียเพื่อการบริโภคอีกหลายชนิด มีทรัพยากรแร่ธาตุ เช่น แร่ Andalusite หินอ่อน หินแกรนิต และทองคำเป็นจำนวนมาก และมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำภายในเขต 878,400 กิโลวัตต์

5. นครชิ่งหยาง

ชิ่งหยางเป็นเมืองจุดกำเนิดของเชื้อชาติจีนตั้งแต่สมัย 200,000 ปีก่อน เริ่มมีการทำเกษตรกรรมเมื่อ 7,000 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน เมืองชิ่งหยางเป็นฐานการผลิตและแปรรูปน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของกานซู โดยมีเขตบ่อน้ำมันฉางชิ่ง ปริมาณปิโตรเลียมกว่า 2,847 ล้านตัน และบ่อน้ำมันซีเฟิง ปริมาณปิโตรเลียมกว่า 400 ตัน เป็นแหล่งทรัพยากรหลัก ยิ่งไปกว่านั้น ชิ่งหยางยังเป็นเมืองที่ถือครองปริมาณการผลิตถ่านหินกว่าร้อยละ 94 หรือ 134,200 ล้านตัน จากจำนวนการผลิตทั้งสิ้น 142,800 ตันของกานซูอีกด้วย

  หอคอยคู่โบราณวัดหัวฉือ

เมืองชิ่งหยางตั้งอยู่เป็นเมืองรอยต่อของมณฑลส่านซีและกานซู มีภูมิทำเลตั้งอยู่ในละติจูดที่เหมาะแก่การเพาะปลูกแอปเปิ้ลมากที่สุดในจีน มีการเพาะปลูกแอปเปิ้ลหลายสายพันธุ์ มีผลิตภัณฑ์ลูกพลับแปรรูปมากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด พืชน้ำมัน Buckwheat ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง และธัญพืชขนาดเล็กอื่น ๆ

6. นครผิงเหลียง

ผิงเหลียงเป็นเมืองที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีสภาพอากาศค่อนข้างอุ่นและชื้นกว่าเมืองอื่น ๆ ในเขตตะวันตกด้วยกัน เป็นแหล่งเกษตรกรรมและปศุสัตว์หลักของกานซู ผลผลิตทางการเกษตรหลักได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี ธัญญาหาร และผลไม้ มีทรัพยากรแร่ธาตุในดินอันได้แก่ น้ำมัน โครเมียม vanadium ทังสเตน ทองคำ สังกะสี ซิลิกา และทองแดง เป็นต้น

ด้านการคมนาคม ผิงเหลียงมีทางหลวงระดับประเทศสาย 312 และทางด่วนระดับมณฑลหมายเลข 203 ผ่านตลอดมณฑล อุตสาหกรรมหลักของผิงเหลียงได้แก่ ถ่านหิน ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ยา และอาหารแปรรูป และยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญด้วยมรดกทางวัฒนธรรมกว่า 425 อย่างจากสมัยอารยธรรมหยางเฉา (仰韶文化) สมัย 3000-5000 ปีก่อนคริสตกาลอีกด้วย

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

1. เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจินชาง

เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจินชางจัดตั้งขึ้นในปี 2531 เป็น แต่เดิมเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ทดลองเขตพัฒนาเศรษฐกิจหลายชนชาติแม่น้ำเหลืองตอนบนส่วนมณฑลกานซูในยุคแรก ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี 2546 ได้รับการ อนุมัติจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้จัดตั้งเป็น “ฐานการผลิตวัสดุใหม่ระดับประเทศจินชาง” และได้รับการอนุมัติใหม่โดยคณะกรรมการการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติให้จัดตั้งเป็น “ฐานไฮเทคระดับชาติแห่งอุตสาหกรรมวัสดุใหม่” ในเดือนพฤษภาคม ปี 2551 นับแต่มีการจัดตั้ง เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจินชางได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาศัยความได้เปรียบทางทรัพยากร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัจจุบันมีการเข้ามาลงทุนและจดทะเบียนในโครงการต่าง ๆ จำนวน 347 โครงการ ก่อสร้างเสร็จสิ้น 245 โครงการ มูลค่าการลงทุนสินทรัพย์ทรัพย์ถาวร 1,200 ล้านหยวน เป็นการลงทุนภาคอุตสาหกรรมรวม 170 โครงการ จวบจนกระทั่งสิ้นปี 2548 มีประมาณการมูลค่าการผลิตรวมทั้งสิ้น 12,000 ล้านหยวน ทำมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม 3,660 ล้านหยวน ทำรายรับจากภาษีกว่า 960 ล้านหยวน ปัจจุบันมีการจ้างงานในเขตราว 12,000 คน โดยการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในระยะเวลา 2 ปีให้หลังมานี้ ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึงกว่าปีละ 1,500 ตำแหน่ง

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับตัวเมืองจินชาง มีถนนสายหลักได้แก่ ซินฮว๋า เหยี๋ยนอัน ไท่อัน

สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จากระยะเวลาการก่อสร้างรวมเกือบ 10 ปี ปัจจุบัน สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในเขตค่อยๆเสร็จสิ้นสมบูรณ์บนพื้นที่ 15 ตารางกิโลเมตร มีถนนสายหลักได้แก่ เป่ยจิง หลานโจว ซินหัว กุ้ยหยาง เหยี๋ยนอัน ไท่อัน ถนนภายในความยาวรวม 13,660 เมตร มีการสร้างพื้นที่สีเขียว ปลอดโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณโดยรอบถนนเหยี๋ยนอัน กุ้ยหลิน ไท่อัน ฝูโจว และถนนสาย 22 และ 24 โดยการปลูกต้นไม้จำนวน 2 หมื่นต้น

อุตสาหกรรมที่สำคัญ

  1. อุปกรณ์แบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนาเป็นการใช้วัสดุขั้วบวกลบ กระดาษนิเกิล ไฟเบอร์นิเกิล กรดกำมะถัน กรดดินประสิว
  2. โลหะผสมทองแดง นิเกิล โคบอลต์ ถูกพัฒนาจนกลายเป็นเส้นนิเกิลบริสุทธิ์ ultratek albata
  3. อุตสาหกรรมแปรรูปโลหะหายาก
  4. เกลือโคบอลต์นิเกิล
  5. ผงนิเกิล ทองแดง โคบอลต์
  6. วัสดุรูปแบบใหม่ โดยหลักคือวัสดุทำจากพลาสติกใช้ในทางวิศวกรรมเช่น ท่อ PE,PP-R, UPVC , CPVC,ABS

การบริหารจัดการ คณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจจินชาง มณฑลกานซู เป็นหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐบาลเมืองจินชาง มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของการดึงดูดการลงทุน การให้บริการ การบริหารในโครงการต่างๆ รวมถึงการร่วมมือ ภาระหน้าที่หลักได้แก่การวางแผนดูแลปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ อนุมัติโครงการที่จะเข้ามาโดยมีขั้นตอนจดทะเบียน และขั้นตอนปฏิบัติ บริหารและบริการกิจการที่เข้ามาลงทุนภายใน วางแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจระยะยาว ดำเนินงานด้านแผนสถิติ และบริหารจัดการโครงการฐานผลิตวัสดุใหม่ เป็นต้น

2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีหลานโจว

ที่ตั้ง เขตอำเภอซีหนิง นครหลานโจว

สาธารณูปโภค มีทางหลวง 4 เส้นพาดผ่านในเขต และเส้นทางรถไฟสายหลัก 4 สาย เช่น ทางรถไฟหลงไห่ ทางรถไฟหลานซิน ทางรถไฟหลานชิง และทางรถไฟเปาหาน และห่างจากสถานีขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์หลานโจว 8 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินนานาชาติจงชวน 42 กิโลเมตร

อุตสาหกรรมหลัก เทคโนโลยีนวัตกรรม ซอฟแวร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องจักร และยาเป็นต้น เขตพัฒนาเศรษฐกิจหลานโจวเป็นเมืองอุตสาหกรรม และฐานทรัพยากรการผลิต ประกอบด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หลอมโลหะ เครื่องจักรไฟฟ้า ยา สิ่งทอ เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีหลายโจวเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศแห่งแรกของมณฑลกานซู ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 1993 ในฐานะเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับมณฑล และยกระดับเป็น ฐานะเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศในเดือนมีนาคม ปี 2002 เป็นโครงการก่อสร้างพัฒนาความร่วมมือนครหลานโจวและมณฑลกานซูเพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจภาคการส่งออกและก่อสร้างตามมาตรฐานระดับนานาชาติ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปี 2002 มีรายได้มูลค่า 2,200 ล้านหยวน ผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรม 1,380 ล้านหยวน และการส่งออกเป็นมูลค่า 192 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ต่อมาในปี 2003 มีรายได้รวมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 1,940 ล้านหยวน เป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ 4.5 พันล้านหยวน ปี 2005 สร้างรายได้ 5,000 ล้านหยวน เป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2,500 ล้านหยวน และทำการส่งออกได้ 50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยคาดว่าภายในปี 2553 จะทำรายได้จากอุตสาหกรรมและการค้าเทคโนโลยีราว 10,000 – 15,000 ล้านหยวน และทำมูลค่าส่งออกได้กว่า 200 ล้านหยวน

3. เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเทียนสุ่ย

เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเทียนสุ่ย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับมณฑลต่อมาในปี 2537 จนกระทั่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจีนให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศเมื่อเดือนเมษายน 2553 ภายในแบ่งออกเป็น 4 สวนอุตสาหกรรมและ 1 เขตธุรกิจเจียวหนาน พื้นที่การก่อสร้างและบริหารงานรวม 1,300 เฮคเตอร์

อุตสาหกรรมหลัก อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ อุตสาหกรรมข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ พลังงานรูปแบบใหม่ วัตถุดิบใหม่ ชีวเภสัชกรรม อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร รวม 6 สาขาหลัก

นอกจากนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเทียนสุ่ยเป็นยังเป็น “ฐานสาธิตอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ” ระดับประเทศ เป็น “ฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรและอิเลคทรอนิคส์สมัยใหม่และฐานสาธิต Cyclic Economy” ที่สำคัญแห่งภาคตะวันตก โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้กว่า 10,000 -15,000 ล้านหยวนภายใน 5 -10 ปี ซึ่งจะกลายเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 65 ขึ้นไป ของมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเขตเมืองเทียนสุ่ย

4. เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่หลานโจว (Lanzhou New Area)

เขตเศรษฐกิจใหม่หลานโจวตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำฉินหวังชวน (Qin wangchuan Basin) ครอบคลุมพื้นที่ถึง 800 ตร.กม. ห่างจากใจกลางเมืองนครหลานโจว ประมาณ 80 ก.ม. เขตเศรษฐกิจใหม่หลานโจวถือเป็นพื้นที่เขตใหม่ทางเศรษฐกิจที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 ให้อยู่ในระดับ first State-level แห่งแรกในพื้นที่จีนตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้มีการจับตามองถึงทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของพื้นที่แห่งนี้ว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจองกานซูและพื้นที่ใกล้เคียงได้มาน้อยขนาดไหน ซึ่งนอกเหนือจากการส่งเสริมให้วิสาหกิจที่มีศักยภาพในมณฑลอาทิ พลังงานลม เหมืองแร่ แร่ธาตุแล้ว NDRC และรัฐบาลกานซูยังได้วางเป้าหมายให้ Lanzhou New Zone เป็นศูนย์กลางพื้นที่สาธิตในด้านการประหยัดทรัพยากรและการปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยภายในเขตจะมีการก่อสร้าง “โซนสาธิต” ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์ (ecological construction) คาดการณ์มูลค่าผลผลิตรวมภายในประเทศในปี พ.ศ.2558 อยู่ที่ 50,000 ล้านหยวน 10,000 ล้านหยวนในปี พ.ศ. 2563 และ 27,000 ล้านหยวนภายในปี 2573

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางทางบก

ถนนภายในมณฑลกานซูมีทางหลวงสายหลักที่สำคัญ 4 สาย ได้แก่ ทางหลวงซีอาน-หลานโจว ทางหลวงกานซู-ซินเจียง ทางหลวงกานซู-เสฉวน และทางหลวงปักกิ่ง-ทิเบต โดยมีเส้นทางผ่านแถบทุกเขตทุกเมืองทุกอำเภอและมณทลข้างเคียง โดยมีสถานีรถโดยสารที่สำคัญ คือ

1. สถานีหลานโจวตะวันออก มีเส้นทางเดินรถกว่า 220 เส้นทาง มีการเดินรถระยะทางไกลทุกวันกว่า 500 เที่ยว เส้นทางการเดินรถครอบคลุม 14 มณฑล 86 เขตอำเภอ เช่น เสฉวน ส่านซี ซานซี เหอหนาน ชิงไห่ ทิเบต หนิงเซี่ย ซินเจียง และมองโกลเลียใน

2. สถานีหลานโจว มีเส้นทางการเดินรถ 24 เส้นทาง มีการเดินรถ 118 เที่ยว โดยมีเส้นทางเดินรถไปยังมณฑลข้างเคียงและเมืองต่าง ๆ ในกานซู เช่น ผิงเหลียง เทียนสุ่ย ไป๋อิ๋น อู่เวย ติ้งซี จางเยี่ย ชิงไห่ ทิเบต ส่านซี หนิงเซี่ย และซินเจียง

นอกจากนี้ยังมีสถานีเดินรถระยะปานกลางและระยะสั้นอีกมากมาย เช่น สถานีเทียนสุ่ย สถานีไป๋อิ๋น และสถานีอู๋หลีผู

เส้นทางรถไฟ

1. เส้นทางรถไฟหลงไห่

เป็นเส้นทางรถไฟหลักที่สำคัญอีกเส้นหนึ่งที่เชื่อมระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตก เส้นทางรถไฟผ่าน 5 มณฑล คือ เจียงซู อันฮุย เหอหนัน ส่านซี และกานซู โดยภาคตะวันออกเริ่มต้นที่สถานีเหลียนหยูนก่างในมณฑลเจียงซู และไปสิ้นสุดที่สถานีหลานโจวในมณฑลกานซู รวมระยะทาง 1,759 กิโลเมตร โดยมีรถไฟหลายสายเชื่อมต่อ เช่น รถไฟสายหลานซิน รถไฟสายเปาหลาน รถไฟสายหลานชิง รถไฟสายปักกิ่ง-กวางโจว และรถไฟสายเปาจี (มณฑลส่านซี)-เฉิงตู

เส้นทางรถไฟหลงไห่จะผ่านเมืองสำคัญในมณฑลต่าง ๆ ดังนี้

มณฑลเจียงซู : เมืองสวีโจว เมืองเหลียนหยูนก่าง

มณฑลอันฮุย : อำเภอต้างซาน

มณฑลเหอหนาน : เมืองลั่วหยาง เมืองเจิ้งโจว เมืองไคเฟิง เมืองซางชิว และเมืองซานเหมินเสียะ

มณฑลส่านซี : เมืองเปาจี เมืองเสี้ยนหยาง นครซีอาน เมืองเว่ยหนาน

มณฑลกานซู : นครหลานโจว เมืองติ้งซี เมืองหล่งซี เมืองเทียนสุ่ย

2. เส้นทางรถไฟหลานซิน

ทิศตะวันออกเริ่มต้นที่ที่ว่าการมณฑลกานซูนครหลานโจว สิ้นสุดทิศตะวันตกที่เมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียง รวมระยะทาง 1892 กิโลเมตร

3. เส้นทางรถไฟหลานชิง

เริ่มต้นสถานีที่นครหลานโจว และไปสิ้นสุดที่เมืองซีหนิงมณฑลชิงไห่ รวมระยะทาง 216 กิโลเมตร และเชื่อมกับเส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต

4. เส้นทางรถไฟเปาหลาน

โดยเริ่มต้นจาก(เขตมองโกลเลีย)เปาโถว-หลินเหอ-อูไห่-(เขตหนิงเซี่ย)สือจุ่ยซาน-ผิงหลัว-อิ๋นชวน-ชิงถงเสีย-จงหนิง-จงเว่ย-(มณทลกานซู)จิ่งไท้-ไป๋อิ๋นซี-หลานโจว ระยะทางรวม 990 กม. โดยจุดเริ่มต้นที่เมืองเปาโถวจะมีรถไฟสายปักกิ่ง-เปาโถว เชื่อมต่อ และปลายทางของเส้นทางรถไฟเปาหลานที่เมืองหลานโจวจะมีเส้นทางรถไฟ 3 สายเชื่อมต่อ ได้แก่ เส้นทางรถไฟหลานโจว-ซินเจียง เส้นทางรถไฟหลานโจว-ชิงไห่ซีหนิง และเส้นทางรถไฟหล่งหนาน

เส้นทางทางอากาศ

การบินทางอากาศของมณฑลกานซูประกอบด้วยการบินทหารและพลเรือน 7 แห่ง ดังนี้

1. ท่าอากาศยานภายในประเทศหลานโจวจงชวน

เป็นสนามบินหลักระดับ 4D ของมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่อำเภอหย่งเติงนครหลานโจว มีความยาวของรันเวย์ 4,500 เมตร ประกอบด้วย 5 ลานบิน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ชั่วโมงละ 600 คน อยู่ห่างจากนครหลานโจวประมาณ 70 กิโลเมตร การเดินทางจากนครหลานโจวสู่ท่าอากาศยานหลานโจว สามารถใช้บริการรถบัสของท่าอากาศยานหรือแท็กซี่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เที่ยวบินที่เปิดให้บริการ เช่น ปักกิ่ง ฮ่องกง เซียงไฮ้ กวางโจว เสิ่นเจิ้น หนานจิง เฉิงตู ซีอาน หางโจว ตุนหวง เป็นต้น มีเส้นทางการบินเกือบ 30 เส้นทาง

2. ท่าอากาศยานภายในประเทศชิ่งหยาง

เป็นสนามบินเส้นทางสายย่อยระดับ 3C ห่างจากเมืองชิ่งหยางประมาณ 8 กิโลเมตร มีรันเวย์ยาว 2,000 เมตร เป็นสนามบินเก่าที่ได้รับการปรับปรุงใหม่และเปิดใช้เมื่อเดือน ก.ค. 2551 โดยช่วงแรกมีเที่ยวบิน 2 เส้นทาง คือ เส้นทางบินไปกลับ ชิ่งหยาง – ซีอาน และ ชิ่งหยาง – หลานโจว ปัจจุบันเปิดเส้นทางบินไปหลานโจว ซีอาน ไท่หยวน และปักกิ่ง

3. ท่าอากาศยานภายในประเทศตุนหวง

เป็นสนามบินเส้นทางสายย่อยระดับ 4C มีรันเวย์ยาว 2,800 เมตร ห่างจากอำเภอตุนหวงเมืองจิ่วฉวนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 13 กิโลเมตร เที่ยวบินที่เปิดให้บริการ เช่น ปักกิ่ง ซีอาน และอุรุมชี

4. ท่าอากาศยานภายในประเทศเจียยู่กวาน

เป็นสนามบินเส้นทางสายย่อยระดับ 3C อยู่ห่างจากเมืองเจียยู่กวานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 9 กิโลเมตร มีเที่ยวบิน 2 เส้นทาง คือ เจียยู่กวาน – หลานโจว – ซีอาน (เปิดเพื่อรองรับเส้นทางสายไหม) และ เจียยู่กวาน – หลานโจว

5. ท่าอากาศยานภายในประเทศเทียนสุ่ย

เป็นสนามบินทหารและพลเรือนเส้นทางสายย่อยระดับ 3C มีพื้นที่ 2,158 ตารางเมตร ห่างจากเมืองเทียนสุ่ยใช้เวลาเดินทาง 10 นาที ช่วงแรกเส้นทางการบินที่เปิด คือ เส้นทางไป-กลับ นครซีอาน – เมืองเทียนสุ่ย – นครหลานโจว จากนั้นจะเปิดเส้นทางบินตรงเทียนสุ่ย – เฉิงตู และ เทียนสุ่ย – ปักกิ่ง ต่อไป สนามบินเทียนสุ่ยเริ่มการก่อสร้างเมื่อเดือน ธ.ค. 2550 และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2551 ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารขนาด 2158 ตารางเมตร อาคารสำนักงานเอนกประสงค์ 1400 ตารางเมตร และลานจอดเทียบท่าเครื่องบิน 9300 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 150,000 คน พัสดุและไปรษณีย์ 800 ตัน รวมมูลค่าการลงทุน 9.75 ล้านหยวน

6. ท่าอากาศยานจินชาง

ห่างจากเมืองจินชาง 20 กิโลเมตร เป็นสนามบินมาตรฐานระดับ 4C มีรันเวย์ยาว 3,000 เมตร เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 16 เม.ย. 2552 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 3025.5 หมู่จีน (ประมาณ 1,260 ไร่) และมีอาคารผู้โดยสารขนาด 3,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 200,000 คน พัสดุและไปรษณีย์ 1,200 ตัน รวมมูลค่าการลงทุน 365 ล้านหยวน (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

7. ท่าอากาศยานจางเย่

เป็นสนามบินแห่งที่ 7 ของมณฑลกานซู เปิดดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2553 สามารถรองรับผู้โดยสารเข้าออกได้ถึงปีละ 243,000 คน พัสดุและไปรษณีย์ 1,723 ตัน มูลค่าการลงทุนรวม 295.77 ล้านหยวน และสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างโบอิ้ง 737 และแอร์บัส 320 ได้ เปิดเที่ยวบินจากเมืองจางเย่สู่นครหลานโจว (มณฑลกานซู) นครซีอาน (มณฑลส่านซี) กรุงปักกิ่ง นครเฉิงตู (มณฑลเสฉวน) และนครอุรุมฉี (เขตซินเจียง)

การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงกานซู

ทางอากาศ

ยังไม่มีเที่ยวบินบินตรงจากประเทศไทยถึงกานซู จำเป็นต้องต่อเครื่อง ดังนี้

1. กรุงเทพ – เฉิงตู – หลานโจว

  • กรุงเทพ – เฉิงตู เที่ยวบินมีเฉพาะวันพุธ ศุกร์ และอาทิตย์

2. กรุงเทพ-ซีอาน-หลานโจว

  • เฉิงตู – หลานโจว เดินทางจากสนามบินซวงหลิว – สนามบินจงชวนหลานโจว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.20 ชั่วโมง
  • ซีอาน – หลานโจว เดินทางจากสนามบินเสียนหยาง – สนามบินจงชวน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง

3. กรุงเทพ – ปักกิ่ง – หลานโจว

  • กรุงเทพ – ปักกิ่ง เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ – สนามบินปักกิ่ง ใช้เวลาประมาณ 4.45 ชั่วโมง มีหลายเที่ยวบิน
  • ปักกิ่ง – หลานโจว เดินทางจากสนามบินปักกิ่ง(โส่วตู) – สนามบินจงชวนหลานโจว ใช้เวลาประมาณ 2.20 ชั่วโมง

ถนน

1. คุนหมิง-เฉิงตูกรุงเทพ-คุนหมิง

  • ใช้ทางด่วนสายคุนหมิง-กรุงเทพ รวมระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 ชั่วโมง
  • ใช้ทางด่วนสายสุ่ยหมา รวมระยะทาง 880 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง

2. คุนหมิง-เฉิงตู

  • ใช้ทางด่วนสายสุ่ยหมา รวมระยะทาง 880 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง

3. เฉิงตู-ซีอาน

ทางด่วนสายเฉิงตู-ซีอาน (บางช่วงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง) คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2009-2010 รวมระยะทาง 910 กิโลเมตร ใช้เวลา 8 ชั่วโมง แต่ในปัจจุบันนิยมใช้รถไฟมากกว่า การเดินทางจากเฉิงตูไปซีอาน รถบัสธรรมดา ใช้เวลาประมาณ 23 ชั่วโมง ส่วนรถบัสเร็วใช้เวลา 15 ชั่วโมง

4. ซีอาน-หลานโจว

ระยะทาง 655 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง

รถไฟ

1. คุนหมิง-ซีอาน

ระยะทาง 1,942 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 37 ชั่วโมง และจากซีอาน-หลานโจว ระยะทาง 676 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง

2. คุนหมิง-เฉิงตู

ระยะทาง 1,100 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง และจากเฉิงตู-หลานโจว ระยะทาง1,172 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 22 ชั่วโมง

เศรฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลกานซู

1) แผนงานประจำปี ค.ศ. 2015

รัฐบาลกานซูประกาศแผนการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจประจำปี 2015 ไว้ดังนี้

รายการ อัตราการเติบโตที่ตั้งเป้าไว้
อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมณฑลกานซู GDP ร้อยละ 8
การลงทุนในทรัพย์สินถาวร ร้อยละ 20
การเติบโตในยอดค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 12
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ร้อยละ 7
รายได้งบประมาณสาธารณะ ร้อยละ 10
การเติบโตของรายได้เฉลี่ยชาวเมือง ร้อยละ 9
การเติบโตของรายได้เฉลี่ยชาวชนบท ร้อยละ 11
อัตราการว่างงานที่ลงทะเบียนของชาวเมือง(อัตราที่ควบคุม) เท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 4
อัตราการเพิ่ม(เกิด)ของประชากร(อัตราที่ควบคุม) เท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 7.3
การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าผู้บริโภค เท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 3

2) ในปี 2015 รัฐบาลวางแนวทางการทำงานเอาไว้ 7 ประการดังนี้

1. สนับสนุนส่งเสริมโครงการต่าง ๆ

  • ส่งเสริมนโยบาย “3 ประการ 100 ล้านคน” 
    – สนับสนุนการเคลื่อนย้ายชาวชนบทเข้ามาในเมือง หรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรม และสนับสนุนการทำงานในพิ้นที่ภาคตะวันตก
    – สนับสนุนการสร้างโครงการสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ
    – ดำเนินการตาม นโยบาย “7 หน้าที่หลัก” ของรัฐบาลกลาง (七个重点工程包)อันประกอบด้วย

    • ระบบอินเตอร์เนตขนาดใหญ่
    • สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ
    • พลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม
    • ทรัพยากรน้ำและธัญพืช
    • ก๊าซและน้ำมัน
    • ระบบขนส่งและการจราจร
    • เหมืองแร่
  • เร่งสร้างโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ
    – โครงการสร้างเส้นทางรถไฟจากอำเภอเหอเวย (和徽县) ถึง เทียนสุ่ย (天水)
    – เริ่มสร้างเส้นทางรถไฟหยินซี (หยินชวน- ซีอาน, Yinchuan-Xi’an Rapid Railway)
    – สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินหลานโจวเส้นที่ 2
  • การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี

2. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม เร่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนา

  • สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ (emerging industry)
    โดยวางเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2015 นี้ อุตสาหกรรมใหม่จะมีมูลค่าการเติบโต 15 % ขึ้นไป
  • สนับสนุนอุตสาหกรรมดั่งเดิม 
    สนับสนุนความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ ขยายความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมอโลหะ โลหะ และ ปิโตรเลียม
    ส่งเสริมแผนพัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหินของมณฑล เร่งให้รัฐบาลกลางอนุมัติเขตทดลองแบบบูรณาการแพทย์แผนจีน
  • เพิ่มความสามารถทางด้านนวัตกรรม 
    เร่งสนับสนุนการสร้างเขตทดลองและปฏิรูปเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลานไป๋ (兰白科技创新改革试验区)เมืองนวัตกรรมและเทคโนโลยีเขตใหม่หลานโจว (兰州新区科技创新城)
  • เร่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (cyclic economy)

3. ส่งเสริมด้านเกษตรกรรม ผลักดันให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน

  • สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานทางการเกษตร และเร่งผลักดันนโยบายการให้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ
  • สนับสนุนการเกษตรสมัยใหม่
  • ผลักดันให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน 
    – ลดจำนวนประชากรที่ยากจนจำนวน 1,000,000 ราย
    – แก้ไขปัญหาน้ำสำหรับบริโภคเป็นพิษในชนบทจำนวน 1,265,800 ราย
    – สร้างถนน 10,000 กิโลเมตร
    – ปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัยในชนบทจำนวน 140,000 ครอบครัว
    – เร่งสร้างระบบไฟฟ้าให้ครอบคลุม 90% ของพื้นที่ชนบท

4. เร่งอบรมและให้ความรู้ด้านการอุปโภคบริโภคตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

  • สนันสนุนโอกาสในการพัฒนา 6 ประการ 
    – ขยายการบริโภคอุปโภคผ่านระบบอีคอมเมริซ
    – การบริโภคอุปโภคสีเขียว
    – ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
    – ผลักดันด้านการท่องเที่ยว
    – การบริโภคด้านการศึกษา
    – การบริโภคสำหรับผู้สูงอายุ
  • ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการอุปโภคบริโภคให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 
    อาทิ ระบบไปรษณีย์ ระบบบริการ
  • เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่ 
    – ผลักดันการจำหน่าย สมุนไพร อาหารฮาลาล และสินค้าและผลิตภัณฑ์พื้นเมืองผ่านระบบอีคอมเมริซ
    – พัฒนาแผนแม่บทระบบโลจิสติกส์ของมณฑล
    – เร่งสนับสนุนสร้างสถานที่ท่องเที่ยวรวม 20 แห่ง (ปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง 8 แห่ง)
    – พัฒนาภาคการบริการด้านสุขภาพและการให้บริการแก่ผู้สุงอายุ

5. ประสานงานและส่งเสริมการปฏิรูปพื้นที่สำคัญ

  • ปฏิรูประบบการบริหาร อาทิ การริเริ่มใช้นโยบาย Negative List
  • ส่งเสริมปฏิรูปและระบบการเงินและการลงทุน อาทิ สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนต่างๆ
  • ส่งเสริมการสร้างระบบตลาดรูปแบบใหม่
  • ส่งเสริมการสร้างเมืองใหม่ ตามนโยบาย “3 ประการ 100 ล้านคน”รวมทั้งสิ้น 15 อำเภอ
  • ปรับปรุงระบบนิเวศน์ อาทิ การสำรวจระบบการใช้พลังงาน ระบบการปล่อยก๊าซคาร์บอน
    และระบบการจัดการการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

6. ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

  • สนับสนุนนโยบายเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม ซึ่งกานซูเป็นหนึ่งในพื้นที่นี้ 
    – ผลักดันโครงการ 13685 ซึ่งเป็นการสนับสนุนช่องทางความร่วมมือระหว่างประเทศบนเขตเส้นทางสายไหม
    – สร้างเขตปลอดภาษีในเขตใหม่หลานโจว
    – เร่งเปิดสร้างสนามบินตุนหวง และท่าขนส่งต่าง ๆ
    – เร่งเปิดเที่ยวบินตรงหลานโจวต่างประเทศ เส้นทางหลานโจว
    – เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
    – ยกระดับงานแฟร์ต่างๆให้เป็นระดับนานาชาติ อาทิ งานแฟร์หลานเซี่ยหุ้ย
  • เร่งสนับสนุนนโยบาย “ก้าวออกไป”
    สนับสนุนการลงทุนนอกพื้นที่ในด้านต่าง ๆ อาทิ เหมืองแร่ ปิโตรเลียม อโลหะ แร่เหล็ก เป็นต้น
    ขยายความร่วมมือทางด้านเกษตรกรรม อาทิ สมุนไพร
  • ผลักดันการขยายตัวของพื้นที่ 
    อาทิ เขตเศรษฐกิจหลานไป๋ (兰白经济区)ให้กลายเป็นเขตรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม

7. รักษาระดับการพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น

  • ผลักดันด้านการศึกษา โรงพยาบาล และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
  • ขยายอัตราการมีงานทำ, จัดหลักสูตรอบรมอาชีพสำหรับประชาชน, เร่งผลักดันการสร้าง สวนอาชีวศึกษาในเขตใหม่หลานโจว
  • ยกระดับประกันสังคม
  • ควบคุมราคาสินค้าและราคาอุปโภคบริโภค
  • เร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • กานซูเป็นมณฑลที่มีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์,โดยเฉพาะใน อ.จิ่วเฉวียนที่มีการใช้ประโยชน์จากแรงลมด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม
  • เป็นแหล่งเพาะปลูกสมุนไพรจีนมากกว่า 1,000 ชนิด และเป็นฐานการปลูกและผลิตมันฝรั่งที่มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน
  • กานซูมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก อาทิ นิเกิล โคบอลต์ แร่ตระกูลแพลตทินัม ซิลิเนียม แร่สังกะสี แทลเลียม และเทลลูเรียม
  • เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจที่ราบกวนจง-เทียนสุ่ย ที่รัฐบาลส่งเสริมให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแผนการ “มุ่งตะวันตก” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศมากมาย

กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจประจำปี 2562

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน