HEBEI

มณฑลเหอเป่ย

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งและพื้นที่

มณฑลเหอเป่ยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศจีน ชื่อย่อคือ “จี้” ได้รับการขนานนามว่า “มณฑลที่อยู่เหนือแม่น้ำเหลือง” มีที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูด 36 05’ ถึง 42 40’ องศาเหนือ และลองจิจูด 113 27’ ถึง 119 50’ องศาตะวันออก มีเนื้อที่ทั้งหมด 187,693 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ตอนกลางโอบรอบกรุงปักกิ่งและนครเทียนจิน

  • ทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
  • ทิศตะวันออกติดทะเลป๋อไห่
  • ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมณฑลซานตง
  • ทิศใต้ติดกับมณฑลเหอหนาน
  • ทิศตะวันตกติดกับมณฑลซานซี
  • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมณฑลเหลียวหนิง มีความยาวชายฝั่งทะเลต่อจากเมืองเทียนจิน 487 กิโลเมตร

ลักษณภูมิประเทศของมณฑลเหอเป่ย พื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูง ส่วนด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ราบต่ำ มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งที่เป็นที่ราบสูง ภูเขา แนวเขา พื้นที่แอ่งกะทะ และพื้นที่ราบ โดยภูมิประเทศที่เด่นชัดสามอย่างคือ ที่ราบสูงป้าซ่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ
ที่ราบสูงมองโกเลีย เทือกเขาเยี่ยนซานและเทือกเขาไท่หัง และพื้นที่ราบเหอเป่ย

ที่ตั้งของมณฑลเหอเป่ยมีลักษณะเด่นคือ เป็นมณฑลที่เชื่อมต่อระหว่างมณฑลในประเทศจีน โดยทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กับมณฑลในทิศตะวันตก และเป็นเขตศูนย์กลางของเขตป๋อไห่ โดยมีทะเลป๋อไห่เชื่อมระหว่างประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งเป็นเขตที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ และเป็นเขตที่มีระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

ตามประวัติศาสตร์ มณฑลเหอเป่ยเป็นสถานที่ที่เกิดสงครามบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสู้รบเพื่อเปลี่ยนราชวงศ์ หรือถูกรุกรานจากชนเผ่าอื่น ในสมัยราชวงศ์หยวน หมิง และชิง ซึ่งสถาปนาเมืองหลวงอยู่ที่ปักกิ่ง เหอเป่ยถูกจัดให้เป็นเพียงเมืองอาณาที่มีพื้นที่ติดกับปักกิ่ง เหอเป่ยถูกตั้งให้เป็นมณฑลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1949 มีเป่าติ้งเป็นเมืองเอกของมณฑล เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 รวมเอาเทียนจินเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑล และเปลี่ยนให้เทียนจินเป็นเมืองเอกของมณฑล ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1967 เทียนจินได้เปลี่ยนสถานะเป็นนครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง จึงมีการเปลี่ยนเมืองเอกอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนเป็นนครสือเจียจวง

ข้อมูลประชากร

ปี 2557 มณฑลเหอเป่ยมีจำนวนประชากรทั้งหมด 73.84 ล้านคน โดยมีอัตราการเกิดพันละ 13.18 อัตราการตายพันละ 6.23

สภาพภูมิอากาศ

มณฑลเหอเป่ยมีสี่ฤดูที่ชัดเจน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ -0.5 – 14.2 องศาเซลเซียส ช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม เป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงสุด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 300 – 800 มิลลิเมตรต่อปี โดยช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุก

ทรัพยากรสำคัญ

ทรัพยากรน้ำ

มณฑลเหอเป่ยเป็นมณฑลที่ค่อนข้างขาดแคลนน้ำ อีกทั้งทรัพยากรน้ำบางส่วนยังต้องส่งต่อให้กรุงปักกิ่งและนครเทียนจิน มณฑลเหอเป่ยมีทรัพยากรน้ำบนดินรวมประมาณ 23,800 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นทรัพยากรน้ำจากทะเลประมาณ 23,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือเป็นน้ำจากแม่น้ำ ส่วนน้ำใต้ดินมีปริมาณประมาณ 12,008 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

มณฑลเหอเป่ยยังมีทรัพยากรพืชและสัตว์น้ำกว่า 200 ชนิด โดยเป็นแหล่งผลิตผลิตผลจากทะเลที่สำคัญของประเทศจีนตอนเหนือ ผลผลิตที่สำคัญอาทิ ปลาดาบ ปลาทูน่า กุ้งทะเล ปูทะเล เป็นต้น

ทรัพยากรพลังงาน

มณฑลเหอเป่ยเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงานที่สำคัญของประเทศแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นมณฑลที่ได้รับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานจากรัฐบาล โดยเหอเป่ยเป็น 1 ใน 13 มณฑลที่เป็นแหล่งผลิตถ่านหินของประเทศ

ทรัพยากรพลังงานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมณฑลเหอเป่ยมีบ่อน้ำมันที่สำคัญ 3 แห่งคือ บ่อน้ำมันหัวเป่ย บ่อน้ำมันจี้ตง และบ่อน้ำมันต้ากั่ง ขุดเจาะน้ำมันดิบได้ในปริมาณเกือบ 10 ล้านตันต่อปี และผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปริมาณเกือบ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้มณฑลเหอเป่ยยังได้พัฒนาการใช้พลังงานอื่นๆ อีก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น

ทรัพยากรแร่ธาตุ

มณฑลเหอเป่ยมีทรัพยากรแร่ธาตุหลากหลาย ปัจจุบันค้นพบแร่ธาตุทั้งหมด 151 ชนิด มีเหมืองแร่ชนิดต่างๆ 1,005 แห่ง ในจำนวนนี้ 439 แห่งเป็นเหมืองแร่ขนาดกลางและขนาดใหญ่ การผลิตแร่ธาตุในแต่ละปีมีปริมาณประมาณ 500 ล้านตัน แร่ธาตุที่สำคัญได้แก่ถ่านหินและเหล็ก โดยเป็นมณฑลที่มีทรัพยากรเหล็กมากเป็นอันดับสามของประเทศจีน เหมืองแร่เหล็กเป่ยหมิงเหอเป็นเหมืองแร่เหล็กที่สำคัญของมณฑล มีปริมาณแร่เหล็กสำรองประมาณ 19 ล้านตัน

นอกจากนี้ มณฑลเหอเป่ยยังมีพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย ที่ราบเหอเป่ยเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชประเภทข้าว ฝ้าย พืชที่ให้น้ำมัน ที่ราบป้าซ่างทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเป็นแหล่งปศุสัตว์ บริเวณเทือกเขาไท่หังเป็นแหล่งปลูกพืชประเภทถั่วและผลไม้เช่นแอปเปิ้ล ท้อ องุ่น ลูกพลับ เป็นต้น

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

มณฑลเหอเป่ยประกอบด้วยเมืองทั้งหมด 11 เมือง ได้แก่
นครสือเจียจวง เมืองเฉิงเต๋อ เมืองจางเจียโข่ว เมืองฉินหวงเต่า เมืองถังซาน เมืองหลังฝาง เมืองเป่าติ้ง เมืองชางโจว เมืองเหิงสุ่ย เมืองสิงไถ และเมืองหานตัน

รูปแบบการปกครองของมณฑลเหอเป่ย

หน่วยงานต่างๆ ของมณฑลเหอเป่ย

ผู้บริหารฝ่ายการเมือง

นายโจว เปิ่นซุ่น (Zhou Benshun)

เลขาธิการพรรคฯ

นายจาง ชิ่งเหว่ย (Zhang Qingwei)

ผู้ว่าการมณฑล

นายโจว เปิ่นซุ่น (Zhou Benshun)

ปธ.สภาผู้แทน ปชช.

นายฝู้ จื้อฟาง (Fu Zhifang)

ปธ.สภาที่ปรึกษาการเมือง

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาครัฐบาลมณฑลเหอเป่ยได้ http://www.hebei.gov.cn/

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมืองสำคัญ

1. นครสือเจียจวง

เมืองเอกของมณฑลเหอเป่ย ทิศเหนือติดปักกิ่งและเทียนจิน ทิศตะวันออกติดทะเลป๋อไห่ มีพื้นที่ทั้งหมด 15,800 ตารางกิโลเมตร

นครสือเจียจวงเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีการคมนาคมที่สะดวก มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็น “เมืองแห่งอุตสาหกรรมยา” “เมืองแห่งอุตสาหกรรมสิ่งทอ” “เมืองท่าสำคัญทางตอนเหนือของจีน” “เขตเกษตรกรรมพิเศษทางตอนเหนือของจีน” และ “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง”

นครสือเจียจวงยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งภูเขา ทะเลสาบ น้ำพุร้อน และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่างๆ มีหน่วยงานอนุรักษ์วัตถุโบราณระดับชาติ 18 แห่ง ระดับมณฑล 105 แห่ง ระดับเมืองและระดับอำเภอ 240 แห่ง มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการกำหนดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ 2 แห่งคือ เขาชางแหยน และเขาจางสือแหยน แหล่งท่องเที่ยวระดับมณฑล 2 แห่งคือ เขาเฟิงหลง และเขาเทียนกุ้ย

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

1. เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่สือเจียจวง (Shijiazhuang New High – tech Industrial Development Zone)

ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2534 มีพื้นที่ทั้งหมด 18 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติ มุ่งเน้นอุตสาหกรรม 4 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมการสื่อสาร อุตสาหกรรม Optical และอุตสาหกรรม New Material ภายในเขตมีการลงทุนจากธุรกิจประเภทต่างๆ กว่า 2,500 บริษัท และมีการลงทุนจากต่างประเทศ ที่สำคัญอาทิ NEG, Fujitsu, Nisshoiwai จากญี่ปุ่น Hoechst จากเยอรมนี Monsanto Company จากสหรัฐอเมริกา TMD, National Power จากอังกฤษ Lion Dixersified Holdings จากมาเลเซีย

 

2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ในมณฑลเหอเป่ย

มณฑลเหอเป่ยให้ความสำคัญและเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก 10 ประเภท ได้แก่ 
อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ติดตั้ง อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

โดยมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญดังนี้

2.1 เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีถังซาน (Tangshan Econonmic and Technical Development Zone)

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองถังซาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2535 มีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับมณฑล มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร โทรคมนาคม รวมทั้งอุตสาหกรรมเทคโนยีชั้นสูง วิสาหกิจต่างชาติรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในเขตนี้ ได้แก่ พานาโซนิค จากญี่ปุ่น, NGK จากญี่ปุ่น, KOBELCO จากญี่ปุ่น, ROCKWELL จากสหรัฐอเมริกา, SIEMENS จากเยอรมนี เป็นต้น

2.2 เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแย่นเจียว (Yanjiao Economic and Technological Development Zone)

ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2535 ตั้งอยู่ในเมืองหลังฝาง ห่างจากตัวเมืองปักกิ่งเพียง 30 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินนานาชาติปักกิ่ง 25 กิโลเมตร ห่างจากนครเทียนจิน 120 กิโลเมตร โดยมีทางด่วนปักกิ่ง-หลานชางผ่านในพื้นที่ เป็นเขตที่ส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี ในปี 2544 เขตนี้ได้รับการพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมซอฟแวร์ และเขตฐานการส่งออกผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์

นอกจากนั้นยังเป็นเขตอุตสาหกรรมการบริการ ธนาคาร การค้า และการท่องเที่ยว และมีอุตสาหกรรมเบา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ยารักษาโรค อุตสาหกรรมเคมีเบา โดยมีหน่วยธุรกิจต่างประเทศสำคัญที่เข้ามาลงทุนได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เป็นต้น

2.3 เขตพัฒนาเศรษฐกิจท่าเรือถังซาน (Tangshan Seaport Economic Development Zone)

ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลป๋อไห่ในเมืองถังซาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2536 มีพื้นที่ 147.47 ตารางกิโลเมตร โดย 20 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่เป็นท่าเรือ ซึ่งเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นช่องทางการส่งออกทางทะเลอีกช่องทางหนึ่งทางตอนเหนือของจีน และจัดอยู่ในอันดับที่ 18 ของท่าเรือทั้งหมดในจีน

ปัจจุบันมีธุรกิจเข้ามาลงทุนกว่า 500 ราย ธุรกิจสำคัญที่เข้ามาลงทุนอาทิ China Metallurgical Group, China Building Material Industry, Sino Steel เป็นต้น อุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การลงทุนจากต่างชาติมีทั้งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงค์โปร์

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางขนส่งทางบก

เนื่องจากมณฑลเหอเป่ยได้ล้อมรอบกรุงปักกิ่งและนครเทียนจิน ตามแผนการพัฒนาการรวมตัวของกรุงปักกิ่ง นครเทียนจินและมณฑลเหอเป่ยที่เผยในปี 2558 จะสร้างเครือข่ายคมนาคมทางบกระหว่างมณฑลเหอเป่ย กรุงปักกิ่งและนครเทียนจิน เพื่อร่นเวลาการเดินทางให้ภายใน 1 ชั่วโมงภายใน 3 พื่นที่นี้ อาทิ ภายในปี 2563 จะมีรถไฟใต้ดิน 3 สายเชื่อมโยงปักกิ่งและมณฑลเหอเป่ย

นอกจากนี้ ปัจจุบัน มณฑลเหอเป่ยมีเส้นทางหลวงที่สำคัญ ได้แก่

  • เส้นทางด่วนสายสือจิง (ปักกิ่ง–สือเจียจวง)
  • เส้นทางด่วนจินจิงถาง (เทียนจิน–ปักกิ่ง–ถางกู่)
  • เส้นทางด่วนสือไท่ (สือเจียจวง–ไท่หยวน)
  • เส้นทางด่วนถางจิน (ถางซาน–เทียนจิน)

นครสือเจียจวงเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางในการเดินทางหลักของพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน เส้นทางรถไฟปักกิ่ง-กว่างโจว ปักกิ่ง-เต๋อโจว สือเจียจวง-ไท่หยวน สือเจียจวง-เต๋อโจว เป็นเส้นทางหลัก 4 เส้นทางในการขนส่งผู้โดยสาร มีเส้นทางรถไฟโซ่วโจว–หวงหัว เชื่อมระหว่างเมืองเสินฉือในมณฑลซานซีกับท่าเรือหวงหัวในมณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟสำคัญในการขนส่งถ่านหินจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออกของประเทศจีน

ปัจจุบันมณฑลเหอเป่ยมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่แล่นผ่านหลายเส้นทาง ได้แก่

  • รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงปักกิ่ง-สือเจียจวง-อู่ฮั่น-กว่างโจว-เซินเจิ้น
  • รถไฟความเร็วสูงเส้นทางถังซาน-เทียนจิน-หลังฟัง-ปักกิ่ง
  • รถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-หลังฟัง-ฝูโจว

เส้นทางขนส่งทางน้ำ

มณฑลเหอเป่ยมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือฉินหวงเต่า ท่าเรือเฉาเฟยเตี้ยน ท่าเรือจิงถังและท่าเรือหวงหัว (ปัจจุบันท่าเรือเฉาเฟยเตี้ยนและท่าเรือจิงถังรวมเรียกว่า “ท่าเรือถังซาน”)

ท่าเรือฉินหวงเต่าเป็นท่าเรือหลักของมณฑลเหอเป่ย และเป็นท่าเรือในการขนส่งทรัพยากรพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน โดยเป็นท่าเรือที่ใช้ในการขนส่งถ่านหินจากมณฑลส่านซี มณฑลซานซี และเขตการปกครองตนเองมองโกเลียใน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถ่านหินที่สำคัญทางภาคเหนือของประเทศจีน ไปยังมณฑลที่ขาดแคลนพลังงานที่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน

นอกจากนี้ ท่าเรือฉินหวงเต่ายังเป็นท่าเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยังประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ปี 2544 มีการลงทุน 1,500 ล้านหยวนในการสร้างเส้นทางการเดินเรือใหม่และยกระดับประสิทธิภาพของท่าเรือให้ดียิ่งขึ้น ส่วนท่าเรือเฉาเฟยเตี้ยนมีการลงทุน 100 ล้านหยวนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งถ่านหินตามความต้องการการใช้พลังงานของภาคใต้ของประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น มณฑลเหอเป่ยกำลังก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ขึ้นใกล้กับเมืองถังซานเพื่อใช้สำหรับการขนส่งถ่านหินและน้ำมันดิบไปยังทางใต้ของประเทศจีน ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการค้นพบแหล่งน้ำมัน (Nanbo 35-2) ห่างจากชายฝั่ง 20 กิโลเมตร โดยคาดว่ามีปริมาณน้ำมันสะสม 133 ล้านตันและเป็นแหล่งน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับสามของแหล่งน้ำมันในทะเลป๋อไห่ ท่าเรือแห่งใหม่นี้มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 7.7 พันล้านหยวน มีท่าขนส่งน้ำลึก 16 ท่า สามารถรองรับปริมาณการขนส่งของถ่านหินได้ 200 ล้านตันต่อปี

เส้นทางขนส่งทางอากาศ

มณฑลเหอเป่ยมีสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่

  • สนามบินสือเจียจวง
  • สนามบินฉินหวงเต่า
  • สนามบินสิงไถ

ท่าอากาศยานนานาชาติเจิ้งติ้งนครสือเจียจวง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครสือเจียจาง 32 กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศสำคัญในแถบเศรษฐกิจปักกิ่ง และเป็นฐานการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภาคเหนือจีน สามารถรองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปีและขนถ่ายสินค้า

เศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล

1) แผนงาน/เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011 – 2015)

  • GDP เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 8.5 และ GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2000
  • รายได้ทางการคลังของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 11
  • รายได้ของประชาชนเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี
  • ยอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18 ต่อปี
  • ยอดการค้าระหว่างประเทศเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี
  • ส่งเสริมให้มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมใหม่ครองสัดส่วนร้อยละ 10 ของ GDP เหอเป่ยภายในปี ค.ศ.2015
  • มุ่งเน้นพัฒนาเขตเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย

2) แผนงาน/เป้าหมายประจำปี ค.ศ. 2015

  • GDP เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 7
  • รักษาดัชนีราคาผู้บริโภคให้ไม่เกินร้อยละ 3
  • การลงทุนจากต่างประเทศที่ใช้จริงเติบโตร้อยละ 5
  • ยอดการค้าระหว่างประเทศเติบโตร้อยละ 5
  • การลงทุนในทรัพย์สินถาวรเติบโตร้อยละ 15
  • มูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตร้อยละ 11
  • รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรที่อยู่ในตัวเมืองและชนบทเติบโตร้อยละ 8 และร้อยละ 8.5 ตามลำดับ
  • ควบคุมอัตราการว่างงาน (ที่จดทะเบียนแล้ว) ไม่เกินร้อยละ 4.5
  • ควบคุมความเข้มข้นของ PM2.5 ในอากาศให้ลดลงร้อยละ 4

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • เป็นศูนย์กลางการคมนาคมเชื่อมโยงกรุงปักกิ่งกับเมืองต่าง ๆ ของจีน
  • มีบทบาทสำคัญในด้านอุตสาหกรรมเบาของจีน โดยมีโรงงานด้านการแปรรูปจำนวนมากในมณฑลเหอเป่ย
  • เป็นแหล่งทรัพยากรพลังงานที่สำคัญของประเทศ โดยเป็นมณฑลที่ได้รับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานจากรัฐบาล เป็น 1 ใน 13 มณฑลที่เป็นแหล่งผลิตถ่านหินของจีน
  • เป็นฐานสำคัญในการผลิตธัญพืชและฝ้ายของจีน
  • มีทรัพยากรแร่ที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีทรัพยากรแร่รวม 156 ชนิด แต่ยังขาดแคลนทรัพยากรน้ำ

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

รัฐบาลเหอเป่ยให้ความสำคัญในการส่งเสริมบริษัทต่างประเทศลงทุนในสาขาอุตสาหกรรม ดังนี้

  • อุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทเฉพาะและรถยนต์ประหยัดพลังงาน
  • อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจหินแร่
  • ธุรกิจอากาศยานและอวกาศ
  • ธุรกิจเครื่องจักรกลโรงงานที่ควบคุมด้วยระบบระบอบคอมพิวเตอร์
  • ธุรกิจเครื่องมือแพทย์
  • ธุรกิจพลังงานการผลิตไฟฟ้าจากลม

ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจ

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน