TIBET

เขตปกครองตนเองทิเบต

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งและพื้นที่

เขตปกครองตนเองทิเบตตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยมีที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นลองติจูด 78 25’ ถึง 99 06’ องศาตะวันออก และละติจูด 26 44’ ถึง 36 32’ องศาเหนือ เขตปกครองตนเองทิเบตมีพื้นที่ติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตปกครองตนเองชินเจียงอุยกูร์และมณฑลชิงไห่ (ประเทศจีน)

  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ประเทศเนปาล ประเทศภูฏาน มณฑลยูนนาน (ประเทศจีน) รัฐกะฉิ่น (ประเทศพม่า)
    รัฐอัสสัม และรัฐนาคาแลนด์ (ประเทศอินเดีย)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ มณฑลเสฉวน (ประเทศจีน)
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ รัฐชัมมูและแคชเมียร์ (ประเทศอินเดีย) และประเทศปากีสถาน

เขตการปกครองตนเองทิเบตตั้งอยู่บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็น “หลังคาโลก” โดยมีความสูงของพื้นที่โดยเฉลี่ย 4,572 เมตร พื้นที่ของทิเบตนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสามส่วน

  • ส่วนที่หนึ่ง คือ พื้นที่ทางตอนเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วยภูเขาอาร์เอ๋อไท่ ภูเขาถางกู่ลา ที่ราบแอ่งกะทะจุ่นก๋าเอ๋อ
    และทะเลทรายกู่เอ๋อปานทงกู่เท่อ และภูเขาเฟิงตี่ซี โดยพื้นที่ทางตอนเหนือดังกล่าวนั้นคิดเป็นพื้นที่ถึงสองในสามของพื้นที่ทั้งหมด
  • ส่วนที่สอง คือ พื้นที่แถบหุบเขาทางตอนใต้ ประกอบไปด้วยพื้นที่ระหว่างหุบเขาเฟิงตี่ซีและภูเขาหิมาลัย และมีแม่น้ำหยาหลู่จ้างปู้ไหลระหว่างกลาง ซึ่งแม่น้ำดังกล่าวเป็นแม่น้ำที่มีความลึกที่สุดในโลก ทั้งนี้มีความลึกถึง 5,382 เมตรโดย พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 6,000 เมตรขึ้นไป
  • พื้นที่ส่วนที่สาม ประกอบไปด้วยภูเขาและหุบเขาทางตะวันออก โดยมีลักษณะเป็นหุบเขาและภูเขาที่ลดหลั่นสลับกันไปในแนวนอนจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกตามแนวเทือกเขาคุนหลุน และมีพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกนั้นก็เป็น ที่ตั้งของเทือกเขาหิมาลัย และมียอดเขาเอเวอร์เรสซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 8,848.13 เมตร

เขตการปกครองตนเองทิเบตมีพื้นที่ทั้งหมด 1,200,000 ตร.กม. คิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 8 ของพื้นที่ทั้งประเทศ รวมทั้งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองซึ่งรองจากเขตการปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง มีความยาวตามแนวชายแดน 4,000 กิโลเมตร ประกอบด้วย

ทิเบตนั้นแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 จังหวัด โดยมีเมืองลาซ่าเป็นเมืองหลวง และเขตจังหวัดอื่น ๆ อีก ได้แก่

  • น่าชูตี้ชู (Nagchu Prefecture)
  • ชางตูตี้ชู (Chamdo Prefecture)
  • หลินจือตี้ชู (Nyingtri Prefecture)
  • ชานหนานตี้ชู (Shannan Prefecture)
  • ลื่อคาเสอตี้ชู (Shigatse Prefecture)
  • อาหลี่ตี้ชู (Ngari Prefecture)

เมื่อกล่าวถึงเรื่องของสภาพแวดล้อมแล้วนั้น ทิเบตนับป็นเขตพื้นที่ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับเขตพื้นที่มณฑลอื่นๆของจีน และไม่เคยเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นในพื้นที่ ไม่มีปัญหาฝนกรดเหมือนหลายๆมณฑลของจีน ซึ่งทางรัฐบาลประจำเขตการปกครองตนเองทิเบตได้ใช้นโยบายการเปรียบเทียบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับทุกโครงการการก่อสร้างและการผลิตภาคอุตสาหกรรม และให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อประชากรอย่างมาก

ทรัพยากรธรรมชาติ

มีการค้นพบทรัพยากรแร่ธาตุกว่า 70 ชนิดในเขตปกครองตนเองทิเบต และมีการทำการสำรวจแล้วกว่า 26 ชนิด
ทั้งนี้มีทรัพยากรแร่ธาตุจำนวน 12 ชนิดที่มีปริมาณมากจัดอยู่ในอันดับต้นๆของประเทศ

โดยมีธาตุโลหะโครเมียม คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณทั้งประเทศ และทิเบตยังเป็นแหล่งธาตุลิเธียมที่สำคัญซึ่งมีปริมาณสำรองเป็นอันดับสองของประเทศจีน

  • หินแร่ผลึกโบลัม ซึ่งในเขตพื้นที่นี้มีปริมาณแร่มากเป็นอันดับสามของประเทศ
  • แร่ Arsenic มีปริมาณมากเป็นอันดับสี่ของประเทศ
  • แร่ยิปซั่มมีปริมาณมากเป็นอันดับสองของประเทศ
  • ดินสำหรับทำเครื่องเคลือบและเซรามิค (Porcelain Clay) มีมาก เป็นอันดับห้าของประเทศ
  • มีการสำรวจพบแร่ทองแดงจำนวน 87 ล้านตันทางภาคตะวันออกของทิเบต โดยรัฐบาลได้จัดสรรกองทุนเพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ดังกล่าวแล้ว โดยได้ให้ชื่อว่าเหมืองแร่ยู่หลง (Yulong Copper Mine) และคาดการณ์ว่าจะสามารถสำรองแร่ทองแดงไว้ได้ 6,500,000 ตัน

นอกจากนี้บริเวณที่ราบแอ่งกระทะไฉต๋ามู่ (Qaidam Basin) ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญ ซึ่งที่มีการผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 20 ล้านตันต่อปี และยังมีทรัพยากรเกลือ ธาตุโพแทสเซี่ยมคาร์บอเนต (Potash) ธาตุตะกั่ว สังกะสี ทองคำ และเยื่อหินทนไฟ ในบริเวณที่ราบดังกล่าวอีกด้วย

เขตปกครองตนเองทิเบตยังมีแหล่งผลิตพลังงานจากธรรมชาติที่สำคัญอีกอย่าง ได้แก่

  • พลังงานน้ำ โดยพลังงานน้ำในเขตพื้นที่ทิเบตสามารถนำมาผลิตกระแสไฟไฟฟ้าได้จำนวน 200 ล้านวัตต์ต่อปี
    คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศ
  • พลังงานลม โดยมีพลังงานลมโดยประมาณ 93,000 ล้านกิโลวัตต์ โดยปัจจุบันทิเบตมีการใช้พลังงานลมเป็นอันดับเจ็ดของประเทศ
  • พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเขตปกครองตนเองในทิเบตมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในประเทศจีน
    เนื่องจากได้รับปริมาณแสงอาทิตย์ 3,100-4,000 ชั่วโมงต่อปี เฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน

เขตการปกครองตนเองทิเบต มีจำนวนสัตว์ป่า คิดเป็นร้อยละ 22.7 ของทั้งหมดในประเทศจีน โดยในอัตราส่วนนี้แบ่งออกเป็น จำนวนสัตว์ป่าเฉพาะท้องถิ่นในทิเบต คิดเป็นร้อยละ 40 ทั้งนี้สัตว์ป่าทั่วไป ได้แก่ ละมั่ง วัวป่าขนยาว (Yak) เสือขนยาว (Snow leopard) กวาง เป็นต้น

นอกจากนี้ เขตปกครองตนเองทิเบตก็ยังมีทรัพยากรป่าและพันธุ์ไม้นานาชนิดกว่า 4,000 ชนิด และพืชสมุนไพรกว่า 500 ชนิด ที่สามารถใช้ในการทำยาสมุนไพรจีนได้ รวมถึงยังมีพืชสมุนไพรทิเบตอีก 1,100 ชนิด

สภาพภูมิอากาศ

เขตปกครองตนเองทิเบตมีภูมิอากาศที่หลากหลายและได้รับการขนานนามว่า “เมืองที่ไม่มีฤดูกาล แต่ฤดูกาลทั้งสี่จะเกิดขึ้นได้ในวันเดียว” พื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทิเบต มีลักษณะภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ส่วนพื้นที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างชุ่มชื้น นั่นคือ ทิเบตเป็นเขตที่มีความแตกต่างของอากาศร้อนแห้งและชุ่มชื้นภายในพื้นที่ที่ชัดเจน และความแตกต่างของอุณหภูมิในเวลากลางวันและกลางคืนสูง โดยในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิอากาศแห้งแล้ง และที่มีลมแรง ความกดอากาศต่ำ ปริมาณออกซิเจนในอากาศน้อย ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ทางตอนใต้โดยเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำฝนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 5,000 มิลลิเมตร ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมีปริมาณน้ำฝนน้อยลงตามลำดับ ซึ่งในบางพื้นที่นั้นมีปริมาณน้ำฝนเพียง 50 มิลลิเมตรต่อปีเลยทีเดียว

เนื่องจากเขตปกครองตนเองทิเบตเป็นเขตที่มีพื้นที่สูง ความกดอากาศต่ำ จึงมีปริมาณออกซิเจนในอากาศน้อย และมีปริมาณแสงแดดมากกว่าพื้นที่ที่อยู่ในเส้นละติจูดเดียวกันถึงหนึ่งเท่าตัวเลยก็ว่าได้ ซึ่งเขตพื้นที่นี้เป็นเขตที่มีจำนวนชั่วโมงในการรับแสงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ในมณฑลอื่นๆของประเทศ โดยมีช่วงเวลาในการรับแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยถึง 3, 021 ชั่วโมงต่อปี ในขณะที่เมืองเซี่ยงไฮ้มีจำนวนชั่วโมงในการรับแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยเพียง 1,932.5 ชั่วโมงต่อปี

อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 8 องศาเซลเซียส โดยที่ราบทางตอนเหนือมีอุณหภูมิเฉลี่ย -2 องศาเซลเซียส พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 10 องศาเซลเซียส เดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีอากาศดีที่สุดของปี เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนนั้นเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

เริ่มปรากฎหลักฐานมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ในช่วง 11,000 -12,000 ปีก่อนคริสตศักราช บริเวณทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และภาคใต้จากหุบเขาหย่าหลู่จ้างปู้ (Yarlung Zangbo) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออก

หลักฐานการมีอยู่ของประเทศทิเบตเดิมปรากฎเด่นชัดว่าเริ่มมีร่องรอยของอาณาจักรเกิดขึ้นในช่วงสมัยศตวรรษที่ 7 โดยเป็นอาณาจักรอิสระมีเมืองลาซ่าเป็นเมืองหลวง และมีลัทธิโบน (Bonism) เป็นลัทธิที่เก่าแก่ของทิเบต ซึ่งลัทธิดังกล่าวนั้นมีการบูชาสวรรค์ เทวดา และต้นไม้

ทิเบตเริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศจีน ในช่วงสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-906) เมื่อกษัตริย์สองตะสันกัมโปแห่งทิเบต ตีได้เมืองเสฉวน

กษัตริย์ถังไทจงในสมัยราชวงศ์ถังจึงสร้างสัมพันธไมตรีด้วยการยกเจ้าหญิงบุนเซ้งกงจู๊เป็นมเหสี ในขณะเดียวกันทิเบตก็เริ่มคุกคามเนปาล กษัตริย์เนปาลจึงสร้างสัมพันธไมตรีด้วยการยกเจ้าหญิงกฤกุฎเทวีเป็นมเหสี ซึ่งองค์หญิงทั้งสองต่างเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้อัญเชิญพระพุทธรูปและพระคัมภีร์เข้าไปในทิเบต ซึ่งทำให้พระเจ้าสองตะสันกัมโปได้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งสร้างวัดทางพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในทิเบต ชื่อวัด “โจกัง” (Jokhang) ณ เมืองลาซา และเป็นช่วงที่ทิเบตเริ่มต้นรับศาสนาพุทธนิกายมหายานเข้ามาสู่ประเทศ

ศตวรรษที่ 8 พระปัทมสัมภวะ (Padmasambhava) ได้รับการอาราธนาเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศทิเบต และเป็นต้นกำเหนิดนิกายนยิงมะปะ หลังจากนั้นก็เริ่มมีพระภิกษุอินเดียหลายท่านเดินทางมาเผยแผ่ศาสนาพุทธที่ทิเบต

ศตวรรษที่ 12 พระภิกษุอินเดียลี้ภัยไปทิเบตเนื่องจากการรุกรานของมุสลิมในอินเดีย

ศตวรรษที่ 13 ทิเบตตกอยู่ภายใต้การปกครองของมองโกลจนถึงศตวรรษที่ 18 โดยปี ค.ศ.1270 กุบไลข่านปกครองทิเบต และทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาสายลามะนิกาย

ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรมองโกลล่มสลายลง หลังจากนั้นทิเบตก็ได้เปลี่ยนการปกครองจากระบบกษัตริย์มาเป็นระบบประมุขทางศาสนาหรือองค์ดาไลลามะ ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของชาวทิเบต เป็นประมุขปกครองศาสนจักรและราชอาณาจักร

ปี ค.ศ.1720 ในยุคสมัยของราชวงศ์ชิง ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งสันติสุขระหว่างราชวงศ์ชิงกับทิเบต โดยกษัตริย์ราชวงศ์ชิงได้มีการอัญเชิญองค์ดาไลลามะเสด็จไปสนทนาธรรมหลายครั้ง

ปี ค.ศ.1949 เป็นช่วงที่กองทัพจากจีนได้รุกรานเข้าทิเบตหลายครั้งและองค์ดาไลลามะได้ลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย

เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1951 ประเทศจีนประกาศให้ทิเบตเป็นเขตการปกครองตนเองภายใต้การปกครองรูปแบบเดิมคือมีองค์ดาไลลามะเป็นผู้นำ ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์

ปี ค.ศ.1965 เขตการปกครองตนเองทิเบตได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และเนื่องด้วยการปฎิวัติวัฒนธรรม โดยมีการประกาศห้ามนับถือศาสนาของพรรคคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้วัดต่างๆของทิเบตได้ถูกทำลายลงกว่า 4,000 แห่ง

ปี ค.ศ.1976-1980 การประกาศห้ามนับถือศาสนาได้ถูกยกเลิกไป วัดทางศาสนาพุทธได้กลับมาทำการบูรณะอีกครั้ง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการประท้วงจากชาวทิเบตเนื่องจากการเลือกปฎิบัติในการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ปี ค.ศ.1990 เขตปกครองตนเองพิเศษทิเบตถูกปกครองอย่างเข้มงวดจากพรรคคอมมิวนิสต์ และประกาศกฎอัยการศึกในปี ค.ศ.1989
ในปีที่ผ่านมาไม่นานมีการร้องเรียนจากนานาประเทศถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต และกดดันให้รัฐบาลจีนปกครองทิเบตอย่างเป็นกลาง

เดือนมกราคม ปี ค.ศ.2000 ทิเบตถูกปกครองด้วยความตึงเครียดอีกครั้ง และองค์การ์มาปะซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาที่ดำรงตำแหน่งสูงเป็นอันดับสามของทิเบต รองจากองค์ดาไลลามะ และปันเชนลามะ ได้อพยพลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย

ข้อมูลประชากร

เขตปกครองตนเองทิเบตเป็นมณฑล/เขตปกครองตนเองที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในประเทศจีน ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ทางใต้และตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนกลางของแม่น้ำหยาหลู่จ้างปู้ แม่น้ำลาซา และแม่น้ำเหนียนฉู่ ในเขตปกครองตนเองทิเบต

ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชนชาติทิเบตรองลงมาคือ ชนชาติฮั่น ชนชาติหุย ชนชาติเหมินปา ชนชาติลั่วปา ชนชาตินู่ และชนชาติน่าซี เป็นต้น

ประชากรชนชาติทิเบตของจีน อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตมากที่สุด โดยมีบางส่วนอาศัยอยู่ในมณฑลชิงไห่ มณฑลกานซู่ มณฑลเสฉวน และมณฑลยูนนาน เป็นต้น

สิ้นปี 2557 เขตปกครองตนเองทิเบตมีประชากรทั้งหมดจำนวน 3.16 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 5,510 คน มีอัตราการเกิดของประชากรร้อยละ 1.58 มีอัตราการตายของประชากรร้อยละ 0.52 และอัตราการขยายตัวของประชากรร้อยละ 1.06

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

รูปแบบการปกครองของเขตการปกครองตนเองทิเบต

หน่วยงานต่างๆของเขตการปกครองตนเองทิเบต​

Audit Department Autonomous Regional General Office
Civil Affairs Department Commerce Department
Communications Department Culture Department
Culture Heritage Bureau Development and Reform Commission
Discipline Inspection Department Education Department
Environmental Protection Bureau Finance Department
Food and Drug Administration Foreign Affairs Office
Geological and Mineral Department Land and Resources Department
Legislative Affairs Office Population and Family Planning Commission
Public Security Department Radio, Film and Television Bureau
Restructuring Economic System Office Science and Technology Department
Sport Bureau State Security Department
State Taxation Bureau State-owned Assets Supervision and Administration Commission
Tourism Bureau

ผู้บริหารฝ่ายการเมือง

นายเฉิน ฉวนกั๋ว (Chen Quanguo)

เลขาธิการพรรคฯ

นายลั่วซังเจียงชุน (Luo sang jiang cun)

ประธานเขตฯ

นายไป๋หม่าชื่อหลิน (Baimachilin)

ปธ.สภาผู้แทน ปชช.

นายพ้าปาลา เก๋อเล่หล่างเจี๊ย (Pabala Gelielangjie)

ปธ.สภาที่ปรึกษาการเมือง

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาครัฐเขตปกครองตนเองทิเบตได้ที่ http://www.xizang.gov.cn

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมืองสำคัญ

เมืองลาซา

  • เมืองหลวงของเขตการปกครองตนเองทิเบต มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,300 ปี
  • เมืองลาซาตั้งอยู่ใจกลางของที่ราบสูงทิเบต
  • มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 3,650 เมตร และมีแม่น้ำลาซาไหลผ่าน
  • มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อวัน 8 องศาเซลเซียส
  • มีปริมาณแสงอาทิตย์ 3,000 ชั่วโมงต่อปี
  • ปริมาณน้ำฝน 500 มิลลิเมตรต่อปี
  • มีพื้นที่ทั้งหมด 30,000 ตร.กม. โดยมีพื้นที่เขตเมือง 544 ตร.กม. เมืองลาซาได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ
    ส่วนของเมืองสมัยใหม่ และส่วนของเมืองโบราณ

เมืองลาซาเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมพิเศษเฉพาะ คือ อุตสาหกรรมชีววิทยาในเขตที่ราบสูง อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าจากปศุสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตสินค้าด้วยมือของชนชาติต่าง ๆ อุตสาหกรรมผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตระหว่าง

จุดเด่นทางวัฒนธรรมต่าง ๆ กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว และสนับสนุนตราสินค้าท่องเที่ยวเฉพาะท้องถิ่นของชาวจ้าง พัฒนาระดับสินค้าท่องเที่ยว โดยกระตุ้นและเพิ่มข้อได้เปรียบของสินค้า เพื่อการท่องเที่ยว และพัฒนาอุตสาหกรรมภาคบริการ โดยเปลี่ยนรูปแบบอุตสาหกรรมภาคบริการแบบดั้งเดิม และยกระดับอุตสาหกรรมภาคบริการและความสามารถทางเทคโนโลยีของการบริการ

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีลาซา ( Lhasa Economic and Technological Development Zone)

  • เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติเขตเดียวในเขตการปกครองตนเองทิเบต ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2544
  • มีระยะห่างจากใจกลางเมือง 9 กิโลเมตร
  • ระยะห่างจากสนามบินลาซา 85 กิโลเมตร
  • ระยะห่างจากสถานีรถไฟลาซา 2 กิโลเมตร โดยเส้นทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบตตัดผ่านเขตนี้ มีพื้นที่ 5.46 ตร.กม.

โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นพื้นที่ A มีพื้นที่ 2.51 ตร.กม. และพื้นที่ B มีพื้นที่ 2.95 ตร.กม. โดยเขตพื้นที่ A เป็นเขตอุตสาหกรรม เขตการค้าและเขตบริการขั้นพื้นฐานครบวงจร พื้นที่ B เป็นเขตเทคโนโลยีขั้นสูง และเขตอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมในเขตนี้เป็นเขตที่นำข้อได้เปรียบจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาพัฒนา แปรรูป และผลิตจึงมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ได้แก่ ยา ผลิตภัณฑ์ยาและการรักษาสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าทางวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว สินค้าแปรรูปเกษตร วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโครงการทางชีววิทยา งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศ เทคโนโลยีระดับสูงของพลังงานสมัยใหม่และวัสดุสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการบริการ

 

 

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางขนส่งทางบก

ปรากฏเส้นทางการติดต่อถึงเขตการปกครองตนเองทิเบตในปี 2493 มีเส้นทางหลวงซื่อชวน-ทิเบต และชิงไห่-ทิเบต ซึ่งมีความยาวรวมทั้งสิ้น 4,360 กิโลเมตร นอกจากนั้น ยังมีเส้นทางการขนส่ง ยูนหนาน-ทิเบต ซินเจียง-ทิเบต โดยเชื่อมต่อกันระหว่างทางหลวง ซื่อชวน ชิงไห่ ซินเจียง และยูนหนาน มีระยะทางทั้งหมด 22, 000 กิโลเมตร

นอกจากนั้น ในปี 2547 ได้มีการสำรวจเส้นทางหลวงใหม่ที่เชื่อมระหว่างเขตการปกครองตนเองทิเบตและประเทศเนปาล และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนฉบับที่ 11 ได้มีการกำหนดงบประมาณกว่า 30,000 ล้านหยวนในการสร้างและต่อเติมเส้นทางหลวงในบริเวณพื้นที่ทิเบต

โดยในปี 2549 ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้แล้วเสร็จ และมีเส้นทางหลวงเพิ่มเติมแล้วกว่า 1,932 กิโลเมตร ทั้งนี้เมื่อโครงการดังกล่าวเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ทิเบตมีเส้นทางหลวงที่มีความยาวทั้งสิ้น 44,813 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นโครงการที่มีความสำคัญโครงการหนึ่งในแผนพัฒนาพื้นที่ของเขตการปกครองตนเองทิเบต และยังเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีนอีกด้วย

วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ได้มีการเปิดเส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต โดยเส้นทางดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางการค้าไปยังประเทศเนปาลและประเทศอินเดียต่อไปในอนาคตอีกด้วย ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวมีความยาว 1,142 กิโลเมตร จากเมืองโกมุดในมณฑลชิงไห่ถึงเมืองลาซาในเขตปกครองตนเองทิเบต และเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางซึ่งผ่านที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต

แบ่งเป็นระยะทาง 564 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่ราบสูงของมณฑลชิงไห่ และระยะทาง 516 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่ราบสูงของเขตปกครองตนเองทิเบต โดยมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 930 กิโลเมตร และเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวนั้นยังผ่านพื้นที่ราบสูงซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลในระดับ 4,000 เมตร และจุดสูงสุดจากระดับน้ำทะเลที่เส้นทางดังกล่าวพาดผ่านนั้นสูงถึง 5,072 เมตรจากระดับน้ำทะเล

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลจีนยังมีโครงการสร้างเส้นทางรถไฟสู่ทิเบตอีกสามเส้นทาง เพื่อขยายเส้นทางเก่าให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

  • เส้นทางแรก เป็นเส้นทางระหว่างเมืองลาซากับเมืองเหนียงฉี สู่ภาคตะวันออก
  • เส้นที่สอง เป็นเส้นทางระหว่างเมืองลาซากับเมืองสี่ก้าเสอ สู่ภาคตะวันตกของจีน
  • เส้นที่สาม จะเป็นเส้นทางระหว่างเมืองสี่ก้าเสอ กับเมืองย่าตง เขตชิกาเซ่

เมืองย่าตง เขตชิกาเซ่ เป็นเมืองท่าในเขตปกครองตนเองทิเบต โดยเมืองดังกล่าวนั้นมีระยะห่างจากเมืองลาซา 460 กิโลเมตร ระยะห่างจากเมืองหลวงของประเทศภูฐาน 300 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นเมืองสำคัญทางการค้าบนแนวชายแดนประเทศจีน และอินเดีย

เส้นทางใหม่ที่ว่าจะก่อสร้างภายใน 10 ปีนี้ และทำให้ความยาวของทางรถไฟสู่ทิเบตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2,000 กิโลเมตร ซึ่งหากมีการสร้างสำเร็จจะเมืองย่าตงจะเป็นเมืองท่าที่เปิดทางเชื่อมจากประเทศจีนสู่เอเชียใต้ไปเข้าเมืองกังต๊อคในแคว้นสิกขิมทางตอนเหนือของอินเดีย

เส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงกับเมืองสำคัญต่าง ๆ ของประเทศจีน ได้แก่ เส้นทางปักกิ่ง-ลาซา ระยะทาง 4,064 ตร.กม. ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 48 ชั่วโมง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว หนานหนิง คุนหมิง เฉิงตู

นอกจากนี้ ในปี 2557 เส้นทางรถไฟลาซา-ชิกาเซ่ เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ นับเป็นเส้นทางรถไฟเส้นแรกในภาคใต้ของทิเบต และส่วนเส้นทางรถไฟลาซา-หลินจือ (林芝) ก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2557

เส้นทางขนส่งทางอากาศ

สิ้นปี 2557 เขตการปกครองตนเองทิเบตมีสนามบิน 5 แห่ง คือ

  • สนามบินลาซาก้งกา (Lhasa Gongga Airport)
  • สนามบินช่างตูปังต๋า (Bangda Airport)
  • สนามบินหลินจือ (Nyingchi Airport)
  • สนามบินอาหลี่คุนซา (Nagri Gunsa Airport)
  • สนามบินชิกาเซ่เหอผิง (Xigaze Peace Airport)

ในปี 2499 ได้ทำการเปิดสนามบินแห่งแรกที่สำคัญประจำเขตการปกครองตนเองทิเบต ได้แก่

1. สนามบินลาซาก้งกา

  • ซี่งเป็นสนามบินที่ตั้งอยู่กว่าน้ำทะเลถึง 3,600 เมตร
  • มีลานบินยาว 4,000 เมตร กว้าง 45 เมตร
  • โดยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 รัฐบาลได้มีการลงทุนกว่า 300 ล้านหยวนเพื่อทำการปรับปรุงสนามบิน
  • โครงการดังกล่าวได้แล้วเสร็จในปี 2547 สนามบินลาซาก้งกาได้รองรับผู้โดยสาร 2.56 ล้านคน

2. สนามบินช่างตูปังต๋า

  • สนามบินช่างตูปังต๋าในเขตช่างตู

โดยสนามบินทั้งสองแห่งเที่ยวบินไปมาระหว่างเมืองเฉิงตู ในมณฑลเสฉวนมากที่สุด นอกจากนั้นยังมีเที่ยวบินระหว่างเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง

3. สนามบินหลินจือ

  • ปี 2547 ได้มีการเริ่มโครงการสร้างสนามบินแห่งที่สาม บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต
  • โดยสนามบินดังกล่าวมีชื่อว่าสนามบินหลินจือ (Nyingchi Airport)
  • ตั้งอยู่ในเขตหลินจือ ซึ่งสนามบินนี้ได้ใช้งบประมาณในการสร้างกว่า 780 ล้านหยวน และแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ ปี 2549 ที่ผ่านมา
  • ซึ่งสนามบินนี้ มีลานบินยาว 3,000 เมตร และเป็นสนามบินที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ซึ่งมีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,949 เมตร
  • โดยสนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 120,000 คนต่อปี
  • มีพื้นที่สนามบินครอบคลุมบริเวณกว่า 117,000 ตารางกิโลเมตร
  • เป็นสนามบินที่มีที่ตั้งใกล้กับเขตพื้นที่ชายแดนซึ่งติดกับประเทศพม่าและอินเดีย

4. สนามบินอาหลี่

ในปี 2550 ได้มีการเริ่มก่อสร้างสนามบินอาหลี่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอาหลี่ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในเมื่อปี 2554

5. สนามบินเหอผิง

  • ในเดือน เมษายน 2552 ได้มีการเริ่มโครงการก่อสร้างเพื่อขยายสนามบินเหอผิง ซึ่งแล้วเสร็จและเริ่มเปิดบริการไในเมื่อปลายปี 2553
  • สนามบินเหอผิงจะเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 5 ของเขตปกครองตนเองทิเบต
  • มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 3,782 เมตร
  • ตั้งอยู่ห่างจากเมืองรื่อคาเจ๋อ 48 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองและเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของเขตปกครองตนเองทิเบต
  • โครงการก่อสร้างเพื่อขยายสนามบินเหอผิงเป็นหนึ่งใน 180 โครงการลงทุนมูลค่า 70,000 กว่าล้านหยวนของเขตปกครองตนเองทิเบต

ตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 11 แห่งชาติจีน โดยโครงการดังกล่าวได้ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 4.8 ร้อยล้านหยวน และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งนักท่องเที่ยวได้ 2.3 แสนราย และรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าได้ 1,150 ตัน

เศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล

1) แผนงาน/เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011 – 2015)

  • GDP เติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 12
  • รายได้ทางการคลังของรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากว่าร้อยละ 15 ต่อปี
  • ภาคอุตสาหกรรรมมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 15 ของ GDP
  • อัตราการเติบโตของรายได้ประชากรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13
  • เพิ่มการจ้างงานมากกว่า 1 แสนอัตราภายใน 5 ปี
  • อัตราการว่างงาน (ที่ลงทะเบียน) ไม่เกินร้อยละ 4
  • การจ้างงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
  • อัตราการพัฒนาความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30
  • มีทางหลวงระดับอำเภอ-อำเภอหรือสูงกว่าถึง 15,000 กิโลเมตร

2. แผนงาน/เป้าหมายประจำปี ค.ศ. 2015

  • GDP เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 12
  • การลงทุนในทรัพย์สินถาวรเติบโตร้อยละ 20
  • มูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตร้อยละ 13
  • ควบคุม CPI ให้ไม่เกินร้อยละ 4
  • รักษาดัชนีราคาผู้บริโภคให้ไม่เกินร้อยละ 3.5
  • รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในเขตชนบทเติบโตร้อยละ 13
  • รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในเขตเมืองเติบโตร้อยละ 10
  • เพิ่มการจ้างงานใหม่จำนวน 46,000 แสนอัตรา

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • เขตปกครองตนเองทิเบต เป็นหนึ่งในเขตที่เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของจีน โดยในปี 2557 เศรษฐกิจทิเบตมีการขยายตัวร้อยละ 10.8 ติดอันดับที่ 2 ของจีนรองจากนครฉงชิ่ง (ร้อยละ 10.9)
  • ทิเบต อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพลังงานธรรมชาติ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานความร้อน โดยทิเบตมีพลังงานแสงอาทิตย์ติดอันดับที่ 1 ของจีน นครลาซา (拉萨) ถือเป็นเมืองที่มีพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดของจีน ส่วนพลังงานน้ำของทิเบตครองสัดส่วนร้อยละ 30 ของจีน ติดอันดับที่ 1 ของจีน
    นอกจากนี้ พลังงานลมของทิเบต ติดอันดับที่ 7 ของจีน ทำให้เขตปกครองตนเองทิเบตนั่นเป็นแหล่งจัดส่งพลังงานจากภาคตะวันตกไปยังภาคตะวันออกที่สำคัญของจีน
  • ทิเบต เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ลึกลับและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้รับฉายาว่าเป็น “ดินแดนสวรรค์บนฟ้า” หรือ “แดนแห่งพระธรรม” โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง อาทิ พระราชวังโปตาลา (布达拉宫) วัดโจคัง (大昭寺) และพระราชวังนอร์บุริงฆา (罗布林卡) เป็นต้น
  • ทิเบต ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพรมแดนติดกับอินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่าและปากีสถาน ซึ่งมีพรมแดนทางบกมากกว่า 4,000 กิโลเมตร จึงเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญระหว่างจีนกับเอเชียใต้ และโดยเฉพาะในภายหลังจากที่เส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต และเส้นทางรถไฟลาซา – ชิกาเซ่ (日喀则) เปิดให้บริการ

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

รัฐบาลทิเบตให้ความสำคัญในการส่งเสริมบริษัทต่างประเทศลงทุนในสาขาอุตสาหกรรม ดังนี้

  • การแปรรูปสินค้าเกษตร
  • การก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ โครงการชลประทาน โครงการพลังงาน และโครงการคมนาคม
  • การสำรวจ ขุดเจาะ และแปรรูปเหมืองแร่
  • การสร้างสถานที่ท่องเที่ยว
  • การผลิตหรือการแปรรูปสิ้นค้าพื้นเมือง
  • การพัฒนาและแปรรูปยา
  • โครงการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน