SHAANXI

มณฑลส่านซี

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

ชื่อย่อมณฑล “ส่าน” หรือ “ฉิน” ตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีพื้นที่ติดกับมณฑลต่างๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
  • ทิศใต้ ติดกับมณฑลเสฉวน และมหานครฉงชิ่ง
  • ทิศตะวันออก ติดกับมณฑลชานซี มณฑลเหอหนาน และมณฑลหูเป่ย
  • ทิศตะวันตก ติดกับมณฑลกานซู่ และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย

ระยะทางจากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 880 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างที่สุดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกมีระยะทางประมาณ 490 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 205,800 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นเทือกเขา ร้อยละ 36 ที่ราบสูง ร้อยละ 45 และที่ราบลุ่ม ร้อยละ 19 พื้นที่ของมณฑล แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ที่ราบสูงส่านซีทางตอนเหนือ หรือ สานเป่ย (Northern Shaanxi Plateau or Shaanbei)
  2. ที่ราบกวนจง (Guanzhong Plain) ตอนกลางของมณฑล เป็นพื้นที่ลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่าน จึงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญต่างๆ เช่น นครซีอาน เมืองเสียนหยาง เมืองเว่ยหนาน และเมืองเป่าจี
  3. แนวเทือกเขาฉินหลิง หรือ ส่านหนาน (Qin Ling Mountain Range or Shaannan) ถือเป็นเส้นแบ่งเขตของมณฑล พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000-2,000 เมตร จึงไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม และเป็นพื้นที่ค่อนข้างยากจน

นอกจากนี้ มีภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ ภูเขาไท่ป๋าย (สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,767 เมตร) และภูเขาฮว่าหลง (สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,917 เมตร) มณฑลส่านซีมีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเว่ย แม่น้ำจิง แม่น้ำลั่ว และแม่น้ำอู๋ติ้ง ซึ่งไหลไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) นอกจากนี้ มณฑลส่านซียังเป็นจุด “ต้า ตี้ หยวน เตี่ยน” หรือ จุดศูนย์กลางแผ่นดินของประเทศจีนซึ่งอยู่ที่ตำบลหย่งเล่อ อำเภอจิ่งหยัง เมืองเสียนหยาง

ข้อมูลประชากร 

สถิติจากสำนักงานสำรวจประชากรมณฑลส่านซี ปี 2559 มณฑลส่านซีมีประชากรทั้งหมด 38.12 ล้านคน

สภาพภูมิอากาศ

 ภูมิอากาศในสานเป่ยและส่านหนานแตกต่างกันมาก มักเกิดฝนแล้งและน้ำท่วมฉับพลันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่สานเป่ย ซึ่งมีพรมแดนติดกับทะเลทรายของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทำให้อากาศค่อนข้างแปรปรวน อากาศแห้งแล้งและมีฤดูหนาวยาวนาน ในส่วนทางใต้ของมณฑล มีอากาศชื้นและไม่หนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของมณฑลอยู่ระหว่าง 9-16 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 396-802 มิลลิเมตร/ปี

ทรัพยากรสำคัญ 

บริเวณตอนบนของมณฑลส่านซีกลายเป็นเขตรองรับทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะทรัพยากรด้านพลังงาน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 41 ล้านล้านหยวน จัดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ มีปริมาณถ่านหินที่สำรวจพบแล้วราว 164,300 ล้านตัน น้ำมันดิบที่สำรวจพบมีปริมาณ 1,000 ล้านตัน         ก๊าซธรรมชาติตามการคาดการณ์อยู่ที่ราว 6-8 ล้านล้านลูกบาก์ศเมตร (สำรวจพบแล้ว 480,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรด้านพลังงาน ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยถ่านหินที่ผลิตได้มีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูง และมีขี้เถ้า ซัลเฟอร์ และฟอสฟอรัสต่ำ

นอกจากนี้ เงื่อนไขทางธรรมชาติและสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย ทำให้มณฑลส่านซีมีทรัพยากรพืชและสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเขตภูเขาฉินปาทางตอนใต้ของมณฑล ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภูมิอากาศแบบเขตเหนือ-ใต้ มีสมุนไพรจีนหลากหลายจนถูกขนานนามว่าเป็นคลังทรัพยากรพืชพันธุ์ทางธรรมชาติ

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

 มณฑลส่านซีเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยในเป็นอดีตเป็นศูนย์กลางการปกครองของจีนถึง 13 ราชวงศ์ (ตั้งแต่ราชวงศ์โจวตะวันตกถึงราชวงศ์ถัง) รวมระยะเวลาทางประวัติศาสตร์กว่า 3,000 ปี ซึ่งปัจจุบันยังคงปรากฎหลักฐานทางโบราณสถาน และโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย

มณฑลส่านซียังเป็นแหล่งกำเนิดการปฏิวัติแห่งประเทศจีน โดยประธานเหมาเจ๋อตุงและพรรคก๊กมินตั๋งได้มาพำนักในพื้นที่ตอนบนของมณฑลส่านซี เพื่อเป็นฐานบัญชาการการปฏิวัติกว่า 13 ปี ปัจจุบัน เมืองเหยียนอานยังคงทำนุบำรุงสถานที่ประวัติศาสตร์การปฏิวัติไว้เป็นอย่างดี

ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในมณฑลมีความเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สุสานกองทัพทหารดินเผา (ปิงหม่าหย่ง) วัดฝ่าเหมินซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กำแพงเมืองโบราณนครซีอาน และพระราชวังต้าหมิง นอกจากนี้ ยังมี เขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันงดงาม เช่น เขาฮวาซาน เขตอนุรักษ์นิเวศวิทยาแห่งชาติเทือกเขาฉินหลิง และน้ำตกฮู่โข่ว

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง มณฑลส่านซีแบ่งเป็น 10 เมืองและอีก 1 เขตปกครองพิเศษที่เพิ่งแยกออกมาจากนครเสียนหยาง ได้แก่ เขตสาธิตเทคโนโลยีเกษตรหยางหลิง

  • นครซีอาน ตั้งอยู่ในที่ราบกวานจง เป็นเมืองเอกและมีสิทธิพิเศษเทียบเท่ากับ 15 เมืองหลักของประเทศจีน เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการและวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่สำคัญ
  • เมืองยวีหลิน ตั้งอยู่เหนือสุดของมณฑล เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเป็นหนึ่งในที่ตั้งของกำแพงเมืองจีนโบราณ เมืองยวีหลินมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมเบา อาทิ เครื่องหนัง สิ่งทอ พรม นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังให้การผลักดันศักยภาพ ด้านพลังงานด้วยการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเสินฝู่ เน้นอุตสาหกรรมถ่านหิน เกลือ และปิโตรเคมี ปัจจุบัน เมืองยวีหลิน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากนครซีอาน
  • เมืองเหยียนอาน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑล เดิมมีชื่อเรียกว่า “เหยียนโจว” เมืองเหยียนอานถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบและถ่านหิน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียง ได้แก่ น้ำตกฮู่โข่ว
  • เมืองถงชวน ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของมณฑล และได้รับอานิสงส์จากการไหลผ่านของแม่น้ำฮวงโห ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ แอปเปิล พริก ท้อ และซันจา
  • เมืองเว่ยหนาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑลส่านซีมีศักยภาพในด้านพลังงานโดยเฉพาะแร่โมลิบดินัม ทองคำ และถ่านหิน เมืองเว่ยหนานเป็นแหล่งผลิตแร่ทองคำที่มากที่สุดของมณฑล และเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศจีน
  • เมืองเสียนหยาง อยู่ห่างจากนครซีอานเพียง 17 กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศของมณฑล และเป็นแหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร สิ่งทอ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
  • เมืองซังลั่ว ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑล เป็นฐานผลิต “ข้าวแดงลิ่งโกว” ที่มีชื่อเสียง และยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกเกาลัดและวอลนัทที่สำคัญ นอกจากนี้ เมืองซังลั่วยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “คลังยาธรรมชาติของประเทศจีน (天然药库)” อีกด้วย โดยพบสมุนไพรกว่า 1,119 ชนิดกระจายอยู่ในพื้นที่
  • เมืองเป่าจี เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เป็นที่ตั้งของวัดฝ่าเหมินซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและได้ชื่อว่าเป็นเมืองบ้านเกิดของเครื่องสัมฤทธิ์โบราณ
  • เมืองอันคัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของมณฑล มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกพืชหลายชนิด อาทิ ยางรักธรรมชาติ โสม และใบชา อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มีแร่ธาตุซีลิเนียมที่มากที่สุดของประเทศจีน
  • เมืองฮั่นจง ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑล มีชื่อเสียงด้านเกษตรกรรม มีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวสาลี และส้มจีน

ผู้บริหารฝ่ายการเมือง

นายหลิว กั๋วจง (Liu Guozhong)​

เลขาธิการพรรคฯ (ตั้งแต่ ก.ค. 2563) ปธ.สภาผู้แทน ปชช. (ตั้งแต่ ส.ค. 2563)​

นายจ้าว อีเต๋อ(Zhao Yide)

ผู้ว่าการมณฑล (ตั้งแต่ ส.ค. 2563)

นายสวี ซินหรง (Xu Xinrong)

ปธ.สภาผู้แทน ปชช. (ตั้งแต่ ม.ค. 2565)

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาครัฐบาลมณฑลส่านซีได้ที่ http://www.shaanxi.gov.cn

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เขตพื้นที่สำคัญของนครซีอาน

1.1 เขตซินเฉิง(新城区)

เป็นที่ตั้งของย่านธุรกิจ และแหล่งอาหาร แหล่งช้อปปิ้งที่มีชื่อเสียง พร้อมทั้งเป็นที่ตั้งของสถานที่ทางราชการหลายแห่

1.2 เขตเยี่ยนถา (雁塔区)

เป็นเขตอนุรักษ์ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นเขตที่ตั้งของเจดีย์ห่านป่าใหญ่ องค์เจดีย์สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 652 ในรัชสมัยจักรพรรดิถังเกาจง โดยก่อนหน้านี้ในปีค.ศ. 648 ในรัชสมัยจักรพรรดิถังไท้จง (TANG TAI ZHONG) พระราชโอรส เจ้าชายหลี่จื้อได้สร้างวัดต้าสือเอินซื่อ (TA SI EN SI) (วัดกตัญญุตาราม) นี้ขึ้นก่อน เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของพระราช จากนั้นเมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้วจึงได้สร้างเจดีย์นี้ขึ้นตามคำขอของพระถังซำจั๋ง ในบริเวณวัดดังกล่าว

1.3 เขตฉวี่เจียง(曲江区)

เป็นที่ตั้งของย่านเขตใหม่ทีรัฐบาลประกาศให้เป็นพื้นที่สาธิตอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมระดับประเทศและเขตที่อยู่อาศัยระดับสูงในนครซีอาน พร้อมทั้งยังเป็นที่ตั้งของแหล่งชอปปิ้ง ร้านอาหารขนาดใหญ่

1.4 เขตสาธิตอุตสาหกรรมไฮเทคทางการเกษตรหยางหลิง(西安杨凌农业示范区)

เขตหยางหลิง ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองเกษตรศาสตร์” ของประเทศจีน เป็นเขตสาธิตทางอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงระดับประเทศเพียงแห่งเดียวในปัจจุบัน ซึ่งก่อตั้งและจัดการโดยคณะกรรมการระดับประเทศในกระทรวงต่างๆ 19 กระทรวงและรัฐบาลมณฑลส่านซีภายในประกอบด้วยเขตประสิทธิภาพต่างๆ 7 เขตได้แก่ เขตเกษตรศาสตร์ เขตสาธิตการจัดสร้างหมู่บ้านในชนบท และการเกษตรสมัยใหม่ เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง เขตสหศาสตร์การเกษตร เขตทดลองทางการเกษตร เขตบริการ เขตรับรองและสันทนาการ

1.5 เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนครซีอาน (西安经济技术开发区)

เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนครซีอานจัดตั้งขึ้นที่นอกเขตประตูทางเหนือของนครซีอาน เนื้อที่รวมตามโครงการ 23.5 ตารางกิโลเมตรเขตนี้ ได้แบ่งออกเป็นเขตสำคัญใหญ่ๆ 4 เขต ได้แก่

เขตการพาณิชย์ส่วนกลาง

เป็นเขตพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ การเงิน การ ประกันภัย ธุรกิจการค้าการพาณิชย์ ธุรกิจอาหาร บ ัน เทิง สถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล เป็น เขต อุตสาหกรรมการบริการที่อำนวยความสะดวก ให้ แก่ นัก ลงทุน

เขตนิคมอุตสาหกรรม “จิงเว่ย”

เป็นเขตที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรม วัตถุดิบ

เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ “เฉ่าถาง”

เป็นเขตที่พัฒนาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เวชภัณฑ์ ชีวภาพ ธุรกิจพักผ่อนตาก อากาศและธุรกิจด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

เขตอุตสาหกกรมแปรรูปเพื่อการส่งออกนครซีอาน

มณฑลส่านซี เป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออกระดับชาติแห่งแรกทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีพื้นที่ทั้งหมด 2.8 ตร.กม. ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ปี คศ. 2002 ซึ่งเขตนี้เป็นเขตดูแลพิเศษของหน่วยงานศุลกากร สินค้าที่ออกจากเขตนี้สามารถดำเนินการด้านการส่งออกได้ตลอด 24 ชั่วโมงภายในสำนักงานที่ตั้งอยู่ในเขต

หลายปีมานี้ เขตพัฒนาฯแห่งนี้รักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้กว่าร้อยละ 40 เขตนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเขตเศรษฐกิจระดับต้นของเมืองซีอานเท่านั้น แต่ดัชนีทางเศรษฐกิจทุกตัวล้วนอยู่ใน รายชื่อระดับต้นๆของเขตพัฒนาระดับชาติในภูมิภาคตะวันตก ซึ่งช่วยเร่งพัฒนาการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งนครซีอานให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง

1.6 เขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งนครซีอาน (西安高新技术产业开发区)

เขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งนครซีอาน (เขตซีอานเกาซิน) ถือเป็นเขตแนวหน้าทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งนครซีอานและภูมิภาคตะวันตก เป็นขั้วบวกทางเศรษฐกิจ ที่แข็งแกร่งที่สุดในนครซีอานและมณฑลส่านซี อีกทั้งเป็นหน้าต่างเปิดรับสู่ภายนอก

ปัจจุบันเขตซีอานเกาซินได้กลายเป็นเขตที่มีบรรยากาศการลงทุนที่ดีในภูมิภาคกลางและตะวันตกของจีน ถือเป็นเขตพัฒนาทางเศรษฐกิจที่คึกคักเขตหนึ่ง จนกลายเป็นเขตสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติ

1.7 ฐานการผลิตอากาศยานแห่งชาติเอี๋ยนเหลียงนครซีอาน (西安阎良国家航空高技术产业基地)

นครเอี๋ยนเหลียงหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า中国航空城(เมืองแห่งอากาศยานของจีน) เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2547 ตามมติคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครซีอาน ฐานการผลิตอากาศยานแห่งชาติเอี๋ยนเหลียง เป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตอากาศยานชั้นสูงของนครซีอานที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งด้านการวิจัย ออกแบบ ผลิต และประกอบชิ้นส่วนและตัวเครื่องบิน ตลอดทั้งยังเป็นเขตฝึกอบรมทางด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียอีกด้วย ประกอบไปด้วยฐานการผลิตอากาศยานขนาดต่างๆรวม 4 แห่งด้วยกันได้แก่

เขตการผลิตอากาศยานเอี๋ยนเหลียง (Yanliang Aviation manufacturing zone)

ด้วยพื้นที่ครอบคลุมกว่า 40 ตร.กม. เป็นฐานการผลิตและพัฒนาเครื่องบินทั้งลำ และเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่

เขตอุตสาหกรรมการบินทั่วไปผู่เฉิง (Pucheng General Aviation industrial park)

เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของมณฑลส่านซี โดยอาศัยประโยชน์จากสนามบินภายในผู่เฉิงที่รัฐบาลตั้งเป้าให้เขตอุตสาหกรรมการบินแห่งนี้สามารถรองรับอุตสาหกรรมต่อยอด อาทิการแปรรูปวัสดุและชิ้นส่วนขนาดเล็กรวมไปถึงยังเป็นฐานการฝึกอบรมนักบิน

สวนอุตสาหกรรมการบินสนามบินนานาชาติเสียนหยาง (Xianyang Airport Industrial Park)

ด้วยพื้นที่จำนวน 12 ตร.กม. ใช้เป็นฐานการซ่อมบำรุงอากาศยานและรองรับระบบโลจิสติกส์

ศูนย์ฝึกอบรมการบินเฟิ่งเสียง (Baoji Fengxiang Flight Training Park)

เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมการบินและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านการฝึกบินทั้งหมด

1.8 เขตนิเวศวิทยาฉ่านป้า (浐灞生态区)

แม่น้ำฉ่านและแม่น้ำป้าเป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญในบรรดาแม่น้ำแปดสายที่ล้อมรอบนครฉางอัน แต่ด้วยการเจริญเติบโตของตัวเมือง ทำให้แม่น้ำเกิดมลภาวะเป็นพิษ รัฐบาลประจำนครซีอานจึงตัดสินใจจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแม่น้ำฉ่านและแม่น้ำป้าขึ้น โดยจัดตั้งให้เขตนี้เป็นเขตนิเวศวิทยาที่เน้นการรักษาธรรมชาติแวดล้อม และการบริหารบำบัดน้ำเสียเป็นหลัก เน้นการพัฒนาไปสู่ความเจริญแบบตัวเมืองเป็นรอง

1.9 เขตเมืองใหม่ซีเสียน(西咸新区)

เขตเมืองใหม่ซีเสียนเป็นการผนวกกันของพื้นที่เขตเดิมสองแห่งได้แก่นครซีอานและนครเสียนหยางโดยตั้งพื้นที่ 7 อำเภอในเขตเดิมทั้งสองใหม่ เป็นเมืองใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น”สวนการเกษตรสมัยใหม่(Modern garden city)” จากคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลส่านซีและรัฐบาลมณฑลส่านซี รวมไปถึงการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมภาคการเกษตรรูปแบบใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การดำเนินการด้านการเกษตรที่ทันสมัยและสอดคล้องกับพื้นที่อนุรักษ์ทางนิเวศวิทยาและพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองใหม่ที่คิดเป็นพื้นที่รวมกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด

1.10 เขตเมืองใหม่ต้าซิ่ง (大兴新区)

เขตต้าซิ่ง เป็นเขตใหม่ที่ได้รับการพัฒนามาจากเขตเมืองเก่าเป็นเขตที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปประจำนครซีอานกำหนดให้เป็นเขตแห่งการบูรณาการทางด้านความเป็นนานาชาติ (International metropolis) เขตต้าซิ่งตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของนครซีอาน บริเวณถ.ต้าชิ่ง(大庆路)ไปบรรจบกับเมืองโบราณทางวัฒนธรรมฮั่นฉางอัน

Factsheet นครซีอานประจำปี 2562

การคมนาคมและโลจิสติกส์

การขยายภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ในภาคตะวันตกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 11 (ปี 2549 – 2553) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเร่งพัฒนาธุรกิจภาคบริการ ส่านซีก็มีลักษณะเช่นเดียวกับมณฑลทางภาคตะวันตกอื่น ๆ ที่มีการเติบโตด้านคมนาคมแบบก้าวกระโดดและมีการลงทุนจำนวนมหาศาล ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 (ปี 2554-2558) รัฐบาลส่านซีวางเป้าหมายให้การคมนาคมในมณฑลส่านซีสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่เขตอื่นๆ โดยเฉพาะนครซีอานที่ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟไปยัง 20 มณฑล โดยรัฐบาลส่านซีได้กำหนดเป้าหมายในการยกระดับให้นครซีอานเป็นเมือง “One-day Transportation” โดยสามารถใช้เวลาเดินทางไปยังเมืองต่างๆได้โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 วัน

เส้นทางทางบก

รัฐบาลส่านซีให้ความสำคัญกับโครงสร้างหลักด้านทางหลวงคุณภาพให้มีรูปแบบดังตัวอักษร 米สร้างเส้นทางด่วนพาดผ่านเขตฉินชวนแปดร้อยลี้โดยให้ทุกเส้นทางต้องเชื่อมโยงถึงกัน เส้นทางด่วนเหนือใต้จากซีอานถึงทางด่วนหวงหลิง (黄陵) ปัจจุบันเส้นทางด่วนซีอาน-ฮั่นจง เหยียนเหลียง-หยู่เหมินโค่ว ถือเป็นเส้นทางเชื่อมต่อภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้สำคัญระดับประเทศสายที่สอง ซึ่งเชื่อมโยงศูนย์กลางสองแห่งคือนครซีอานและนครเฉิงตูเข้าด้วยกัน และจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาจีนตะวันตกอย่างสูง ขณะเดียวกันก็พัฒนาเครือข่ายเส้นทางพร้อมสร้างทางหลวงสู่ชนบท เช่น เส้นทางด่วนยวีหลินถึงจิ้งเปียน เส้นทางด่วนสนามบินนานาชาติซีอาน-เสียนหยาง เส้นทางด่วนเอี๋ยนอาน-อานไซ ทางหลวงเส้นซีอานล้อมภูเขาเป็นต้น

ระบบราง

1.1 รถไฟใต้ดิน

ระบบรถไฟใต้ดินของนครซีอานเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อเดือนกันยายน ปี 2549 และเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2554 โดยเส้นทางรถไฟใต้ดินหมายเลข 2 เริ่มตั้งแต่สถานีรถไฟเป่ยเค่อไปสิ้นสุดยังศูนย์การประชุมนานาชาติฉวี่เจียง ระยะทางรวม 20.50 กิโลเมตรและเส้นทางรถไฟใต้ดินหมายเลข 1 จะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนกันยายนปีนี้ โดยเริ่มจากสถานีโห้วเหว่ยไจ้ไปสิ้นสุดยัง Xi’an Textile city ระยะทางรวม 23.9 กิโลเมตร

1.2 เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ได้แก่

1)ซีอานเป่ย-เซินเจิ้น(G824)

2)ซีอานเป่ย-ปักกิ่ง(G88)3)

ซีอานเป่ย-ลั่วหยาง(หลงเหมิน)(G662)

4)ซีอานเป่ย-กวางโจวหนาน (G98/G95)

ระบบทางด่วน

ในปี 2555 ส่านซีมีทางด่วนรวมระยะทางทั้งสิ้น 3,803 กม. นอกจากนี้ทางหลวงรวมกว่า 151,986 กม.

ตามแผนเครือข่ายทางด่วนของมณฑลส่านซีที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าภายใน 15 ปีมณฑลส่านซีจะสร้างเครือข่ายทางด่วนในลักษณะตัวอักษร 米 ครอบคลุม 10 เมืองของส่านซี เพื่อให้เป็นวงแหวนการเดินทางภายในมณฑลเพียง 1 วัน ในปี 2552 รัฐบาลส่านซียังได้ขยายแผนเครือข่ายทางด่วนเป็นโครงการ “ เครือข่ายทางด่วน 2637 ” โดยมีเป้าหมายการเดินทางจากนครซีอานสู่ 8 มณฑลเพื่อนบ้านรอบทิศทาง คือ กานซู หนิงเซี่ย มองโกลเลียใน ซานซี เหอหนาน หูเป่ย ฉงชิ่งและเสฉวน และกำหนดสร้างทางด่วนครอบคลุมส่านซีให้มีระยะทางรวม 8,080 กม. ภายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีฉบับที่ 13 (ปี 2559 – 2563) โดยเป็นทางด่วนระดับประเทศ 3,888 กม. และทางด่วนระดับมณฑล 4,192 กม. รวมมูลค่าการลงทุน 420,000 ล้านหยวน

ระบบทางยกระดับ

เครือข่ายทางยกระดับในมณฑลส่านซีประกอบไปด้วยถนนวงแหวนรอบเมืองใหญ่ 4 แห่งด้วยกันได้แก่

1. ถนนวงแหวนรอบนครซีอาน ปัจจุบันถือเป็นอีกเส้นทางเลี่ยงเมืองเพื่อลดการติดขัดของการจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ปัจจุบันถนนวงแหวนเลี่ยงเมืองของนครซีอานเริ่มจากเขตป้าเฉียวทางตอนเหนือของนครซีอานไปบรรจบยังจุดเชื่อมต่อทางหลวงนครหลินถง โดยถนนวงแหวนหมายเลข 2 และ 3 ยังเป็นเส้นทางสำคัญในการคมนาคมขนส่งสินค้าที่สำคัญอีกด้วย

2.ถนนวงแหวนรอบนครยวีหลิน

3.ถนนวงแหวนรอบนครเป่าจี

4.ถนนวงแหวนรอบนครฮั่นจง

ระบบอุโมงค์

1. อุโมงค์คู่ลอดเขาฉินหลิง

เริ่มเปิดให้ใช้เส้นทางได้เมื่อปี 2550 ถือเป็นอุโมงค์คู่ลอดภูเขาที่มีระยะทางยาวที่สุดในโลก ด้วยระยะทางรวมของสองอุโมงค์กว่า 36.04 กิโลเมตร โดยเริ่มจากหมู่บ้านอู่เซียงเขตฉางอันนครซีอานไปสิ้นสุดยังหมู่บ้านหยินผาน อ.จั้วสุ่ย ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 3,193 ล้านหยวน

เส้นทางทางน้ำ

เนื่องจากมณฑลส่านซีเป็นมณฑลที่ไร้ทางออกสู่ทะเล ในส่วนของการคมนาคมทางน้ำมณฑลส่านซีใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเหลืองในการสัญจรและการใช้แนวทางการดำเนินการย้อนรอยความรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหมในอดีตได้แก่การ ใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกที่เคยใช้ติดต่อการค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปในอดีต โดยการเชื่อมต่อคมนาคมทางบกระหว่างเอเชียกับยุโรปในศตวรรษที่ 21 จะสามารถขนส่งสินค้าจากท่าเรือเหลียนหยูนก่างมณฑลเจียงซูไปยุโรปโดยไม่ต้องเอาสินค้าลงเรือออกสู่ทะเล แต่จะใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟในการขนส่งสินค้าผ่านมณฑลส่านซี-กานซู-ซินเจียงออกชายแดนประเทศจีนไปยังประเทศต่างๆในยุโรปจนถึงท่าเรือร็อตเตอร์ดัม รวมระยะทางกว่า 10,800 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกลางได้ลงทุนปฏิรูประบบการเดินรถไฟในเส้นทางยูเรเชีย หมายเลข 2ในส่วนของประเทศจีน จากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลในการขับเคลื่อนเป็นระบบไฟฟ้าเพื่อความรวดเร็วในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

1. ท่าสินค้านานาชาตินครซีอาน (Xi’an International Trade and Logistic Park)

ถือเป็น Inland port ที่รัฐบาลตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าครบวงจร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครซีอานบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำป้าและแม่น้ำเว่ย ทิศตะวันตกขนาบแม่น้ำป้า ทิศเหนือติดเส้นทางรถไฟวงแหวนเหนือ ทิศตะวันออกติดทางหลวงซี-หาน และทิศใต้ติดทางด่วนยกระดับอ้อมนครซีอาน รวมทั้งเป็นแหล่งรวมของแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำจิง เว่ย ฉ่านและป้า แบ่งเป็น 4 เขตหลัก คือ

 

1.1 เขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์

1.2 เขตโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

1.3 เขตโลจิสติกส์ภายในประเทศ

1.4 เขตกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

 

ในปี 2555 ที่ผ่านมาท่าสินค้านานาชาตินครซีอานมีมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินถาวรรวม 4,581 ล้านหยวน และมีมูลค่าการนำเข้าส่งออกรวม 350 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 8

เส้นทางทางอากาศ

1. ท่าอากาศยานนานาชาติเสียนหยาง (Xianyang International Airport)

สนามบินนานาชาติซีอานเสียนหยางถือเป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่จีนตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของประเทศด้วยจำนวน 3 อาคารผู้โดยสารโดยในปี 2555 สนามบินนานาชาติเสียนหยางรองรับปริมาณผู้โดยสารถึง 23.42 ล้านคน ปัจจุบันมีสายการบินที่เปิดทำการบินในประเทศทั้งสิ้น 16 สายการบินและทำการบินระหว่างประเทศไปยังเกาหลีใต้,ฮ่องกง,ญี่ปุ่น,ไต้หวัน,มาเลเซีย ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงจากนครซีอานไปยังกรุงเทพมหานครโดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย(FD) ทุกวันเวลา 22.30น.

2. ท่าอากาศยานเหยาชุน (Yaochun Airport)

เป็นสนามบินภายในที่เป็นใช้สำหรับเป็นสนามฝึกบินของกลุ่มบริษัท AVIC Xi’an Aircraft Industry (Group) Company หรือที่รู้จักกันในนาม “ซีเฟยกรุ๊ป” รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ผลิตและประกอบอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลส่านซี ทั้งเครื่องบินพลเรือนและที่ใช้ในการพาณิชย์ ตั้งอยู่ในฐานการผลิตอากาศยานแห่งชาติเอี๋ยนเหลียง

เศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล

1) แผนงาน/เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011 – 2015)

  • ให้ความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นมณฑลที่มีศักยภาพการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สูงขึ้น
  • เน้นรักษาระดับจีดีพีให้สูงขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับเดิม
  • หลักบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับมณฑลพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางของเศรษฐกิจที่รวดเร็ว
  • ส่งเสริมโอกาสและการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาบุคลากรโดยแบ่งเป็น นโยบายเร่งผลักดันได้แก่ส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมไปถึงมาตรฐานการดำรงชีวิต และนโยบายยกระดับในส่วนของผลผลิตมวลรวมทั้งมณฑล รายได้และงบการเงินรายได้ของผู้อยู่อาศัยทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท
  • พัฒนาการร่วมมือกันระหว่างในระดับมณฑล นคร และอำเภอในการก้าวเข้าสู่มณฑลที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางการพัฒนาไปในทางเดียวกัน
  • ผลักดันยุทธศาสตร์ “โครงการเมกกะโปรเจ็ค 10 ประเภท” โดยแบ่งเป็นการลงทุนขนาด 200,000 ล้านหยวน 100,000 ล้านหยวน 50,000 ล้านหยวน 20,000 ล้านหยวน และ 10,000 ล้านหยวน
  • เร่งส่งเสริมพื้นฐานของการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • เร่งการก่อสร้างศูนย์กลางการขนส่งของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้แก่ การก่อสร้างทางรถไฟโดยรวมเส้นทางหลวง การบิน และระบบท่อส่งต่างๆ
  • เปลี่ยน Made in Shaanxi, Complete in Shaanxi ให้เป็น Created by Shaanxi
  • เน้นการพัฒนาศักยภาพทางด้าน Soft Power อาทิ ด้านวัฒนธรรม ประเพณี อุดมการณ์

2) ในปี 2015 รัฐบาลได้วางแผนการทำงานเอาไว้ 7 ด้านด้วยกันดังนี้

  1. คว้าโอกาสรองรับการเติบโต เน้นโครงการส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
    • มุ่งเน้นการส่งเสริมเสถียรภาพในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 13
    • เร่งสร้างเส้นทางขนส่งถ่านหินสีเขียว
    • รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายต้าซี(大同-西安高铁)
    • ทางด่วนเสียนหยางถึงอำเภอสุนอี้ (咸阳至旬邑高速)
    • รถไฟฟ้าสาย 2 (ส่วนใต้ 4สถานี)
    • สนามบินฮั่นจง รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนทั้งชาวเมืองและชนบท พัฒนาระบบเงินเดือน
  2. สร้างสวนเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มความสามารถในการผลิตผลผลิต 
    รับประกันความพอเพียงของอาหาร พื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 18 ล้านไร่ ปริมาณการผลิตมากกว่า 11.5 ล้านตัน สนับสนุนบริษัทชั้นนำ 10 บริษัท เขตสหกรณ์100 เขต และสวนสาธิตการเกษตร 1,000 แห่ง ผลิตผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร 10,000 ราย เสริมสร้างกรรมสิทธิ์การโอนใช้ที่ดินและการจัดการซื้อขายของเกษตกรอย่างยุติธรรม
  3. ดึงดูดโครงการและอุตสาหกรรมเทคโลยีระดับสูงต่างๆเข้ามาลงทุน
    อาทิ บริษัทรถยนต์ฮุนได และโครงการแบตเตอร์รี่พลังงานใหม่ของซัมซุง เร่งการส่งเสริมและพัฒนาอุตสหกรรมรถยนต์ เร่งก่อสร้างโครงการการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ณ เมืองใหม่เฟิ่งซี ในเขตใหม่ซีเสียน พัฒนาการผลิตท่าอากาศยานขนาดใหญ่ โดยมีโครงการเกี่ยวกับท่าอากาศยานจำนวน 700 ลำ สนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน อาทิ การก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมท่าอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) รวมทั้งดึงดูดอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมวัฒนธรรม และอุตสหกรรมการบริการสมัยใหม่
  4. การพัฒนาความเป็นเมือง
    เร่งผลักดันการถ่ายโอนชาวชนบทเข้ามาในเมืองมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2015 จะต้องมีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวน 900,000 คน พัฒนาและส่งเสริมการจัดตั้งระบบที่อยู่อาศัย ระบบสวัสดิการ และระบบรักษาพยาบาล โดยใช้นครซีอานเป็นจุดศูนย์กลาง เมืองเป่าจี ฮั่นจง หยู่หลิน เว่ยหนาน เป็นกำลังเสริม
  5. ส่งเสริมและสนับสนุนสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 
    ส่งเสริมและปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนอาทิ ด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา การบริการทางด้านการแพทย์และสาธารณะสุขและเพิ่มอัตราการได้งานของนักศึกษาจบใหม่มากกว่าร้อยละ 80
  6. ส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศวิทยาและรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม
    เร่งกำจัดถ่านหินในบริเวณ 100 ก.ม.รอบนครซีอาน สั่งปรับปรุงและเปลี่ยนเครื่องผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 300,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป ส่งเสริมการกำจัดฝุ่นที่เกิดจากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในแต่ละวัน ห้ามเผาขยะหรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดมลพิษ ตรวจสอบท่อไอเสียรถยนต์และยกเลิกการใช้งานรถยนต์ที่มีการปล่อยควันพิษสู่ธรรมชาติที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด
  7. สนับสนุนและผลักดันเส้นทางเศรษฐกิจเส้นสายไหม
    ส่งเสริมเส้นทางขนส่งสินค้า ฉางอันห้าว (长安号)ศึกษาวิจัยรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวไปสู่ตะวันออกกลาง ขยายเที่ยวบินตรงไปสู่เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก และยุโรป ผลักดันให้สนามบินนานาชาติเสียนหยางกลายเป็นหน้าด่านสำคัญของภูมิภาค ผลักดันการทำวีซ่าแบบข้ามแดน 72 ชม. และส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ช

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • เป็นมณฑลสำคัญในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในการเร่งพัฒนามณฑลเพื่อเป็นแหล่งรองรับการย้ายฐานการผลิตจากภาคตะวันออกที่นับวันจะมีค่าแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ และขณะนี้ มีกิจการต่างชาติหลายแห่งเริ่มทยอย ย้ายฐานการผลิตจากภาคตะวันออกของจีน
  • เป็นแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุ ถ่านหิน และมีการเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะชิ้นส่วน การบิน การอวกาศและเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เป็นต้น
  • ในระยะยาวมณฑลส่านซีจะเป็นจุดเชื่อมเส้นทางรถไฟของจีนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือกับส่วนอื่นๆ ในประเทศและจีนยังวางแผนให้
  • ส่านซีเป็นศูนย์กลางของจีนตะวันตกเพื่อเชื่อมโยงจีนกับเอเชียกลางและยุโรปต่อไปได้จัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์รองรับการกระจายสินค้าในอนาคต
  • ด้านการท่องเที่ยว ได้เร่งพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เร่งเปิดเส้นทางบินตรงกับต่างประเทศและพัฒนามาตรฐานการให้บริการ

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

รัฐบาลส่านซีให้ความสำคัญในด้านการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยแนวทางปี 2015 มีดังนี้

  • เร่งพัฒนาการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
  • การเป็นฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (Outsourcing)ที่สำคัญของจีนตะวันตกเฉียงเหนือ
  • อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ การผลิตบรรทุกหนักเพื่อการส่งออก การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน พลังงาน
  • เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ เช่น Next Generation Network , Internet of things , Three networks convergence , จอภาพแสดงผลจอแบน, วงจรไฟฟ้ารวมสมรรถนะสูง ซอฟท์แวร์ระดับสูง เป็นต้น
  • การผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ระดับสูง เช่น เครื่องมือการแพทย์ อุปกรณ์การบิน วัสดุเหล็กด้วยกรรมวิธีการผลิตเทคโนโลยีระดับสูง เป็นต้น
  • การผลิตวัสดุใหม่ เช่น วัสดุอิเล็กทรอนิกส์สมรรถนะสูง วัสดุประเภทเยื่อ (membrane) วัสดุไฟเบอร์ (คาร์บอนไฟเบอร์ อารามิดไฟเบอร์)
  • พลังงานใหม่ เช่น พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์ และรถยนต์พลังงานใหม่ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม

Factsheet มณฑลส่านซี ประจำปี 2562​

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน