JILIN

มณฑลจี๋หลิน

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

  • ชื่อของมณฑลจี๋หลินมีความหมายว่า “เมืองอันอุมดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้”
  • ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน
  • ความยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกประมาณ 750 กิโลเมตร
  • ความยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ประมาณ 600 กิโลเมตร
  • ทิศเหนือติดกับมณฑลเฮยหลงเจียง
  • ทิศใต้ติดกับมณฑลเหลียวหนิง
  • ทิศตะวันตกติดกับเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
  • ทิศตะวันออกติดกับประเทศรัสเซีย
  • ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับประเทศเกาหลีเหนือ

มณฑลจี๋หลินมีพื้นที่ชายแดนติดกับต่างประเทศเป็นความยาว 1,438.7 กิโลเมตร ชายแดนที่ติดกับประเทศเกาหลีเหนือมีความยาว 1,206 กิโลเมตร และชายแดนที่ติดกับประเทศรัสเซียมีความยาว 232.7 กิโลเมตร นอกจากนี้ เมืองหุนชุนในมณฑลจี๋หลินมีระยะทางห่างจากทะเลญี่ปุ่นเพียง 15 กิโลเมตร มณฑลจี๋หลินมีพื้นที่ทั้งหมด 187,400 ตร.กม. คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 2 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

ทรัพยากรสำคัญ

ทรัพยากรดิน
มณฑลจี๋หลินได้รับการสมญานามว่า “พื้นที่ดินดำ” มีทรัพยากรดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของมณฑลได้แก่ ข้าวโพด ข้าว ถั่วเหลือง น้ำมันจากพืช ธัญพืชต่างๆ เป็นต้น

ทรัพยากรแร่
มณฑลจี๋หลินมีทรัพยากรแร่ทั้งหมด 89 ชนิด แร่ที่สำคัญได้แก่ Oil Shale, Diatomaceous, Wollastonite, Scoria เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแหล่งทรัพยากรน้ำแร่ธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอยู่ในบริเวณภูเขาฉางไป๋ซาน

ทรัพยากรป่าไม้ 
มณฑลจี๋หลินมีพื้นที่ป่าไม้คิดเป็นร้อยละ 42.5 ของพื้นที่ทั้งมณฑล อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ นับมณฑลที่มีความสำคัญด้านป่าไม้มณฑลหนึ่งของจีน โดยเฉพาะในเขตภูเขาฉางไป๋ซาน ซึ่งมีพันธุ์พืชที่หลากหลาย อาทิเช่น สนแดง ต้นโอ้ค ต้นหลิวน้ำ (Fraxinus mandshurica) เป็นต้น มณฑลจี๋หลินยังเป็นแหล่งสมุนไพรยาจีนที่สำคัญ โดยมีพืชที่สามารถใช้ทำยากว่า 1,850 ชนิด

ทรัพยากรน้ำ 
มณฑลจี๋หลินมีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำสายสำคัญในมณฑลได้แก่

  • แม่น้ำซงฮัว
  • แม่น้ำเหลียวเหอ
  • แม่น้ำยาลู่
  • แม่น้ำถูเหมิน
  • แม่น้ำสุยเฟิน

ในเขตภูเขาฉางไป๋ซานมีทะเลสาบน้ำจืดบนภูเขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

มณฑลจี๋หลินยังมีผลิตผลจากธรรมชาติที่สำคัญอีกหลายชนิดที่สำคัญได้แก่ โสม เขากวาง เป็นต้น 
ปัจจุบันมณฑลจี๋หลินเป็นแหล่งผลิตและส่งออกโสมที่ใหญ่สุดในประเทศจีน

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

ชื่อมณฑลจี๋หลินได้ปรากฏในประวัติศาสตร์ครั้งแรกเมื่อในปี ค.ศ.1673 ในช่วงสมัยของ กษัตริย์คังซี ราชวงศ์ชิง ในเวลานั้นมีชื่อว่า จี๋หลินอูลา (吉林乌拉) ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 สมัยของกษัตริย์กวงซู่ว์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นจี๋หลินและยกฐานะให้เป็นมณฑล ปกครองโดยการส่งแม่ทัพไปประจำการ ปี ค.ศ. 1931 หลังจากที่ญี่ปุ่นเข้ามารุกรานประเทศจีน จี๋หลินได้กลายเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่า รัฐบาลแมนจูกั๋ว ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงครามในปี ค.ศ. 1945 มณฑลจี๋หลินจึงกลับมาเป็นของประเทศจีนอีกครั้ง กลายเป็น 1 ใน 6 มณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ข้อมูลประชากร

ปลายปี 2561 มณฑลจี๋หลินมีประชากรจำนวน 27.04 ล้านคน (ประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ภายในมณฑลจี๋หลินเป็นระยะเวลาครึ่งปีขึ้นไป)
เพิ่มขึ้นจากปลายปีที่แล้วร้อยละ 0.88 มีอัตราการเกิดของประชากรพันละ 6.62 อัตราการตายพันละ 6.26

นอกจากชนชาติฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของมณฑลแล้ว มณฑลจี๋หลินยังมีประชากรที่เป็นชนชาติกลุ่มน้อยอีก 48 ชนชาติ ชนชาติที่สำคัญได้แก่ ชนชาติเกาหลี (เฉาเสี่ยน) แมนจู มองโกเลีย หุย และซีป๋อ โดยจำนวนประชากรที่เป็นชนกลุ่มน้อยคิดเป็นร้อยละประมาณ 9.15 ของประชากรทั้งมณฑล

สภาพภูมิอากาศ

เนื่องจากด้านทิศตะวันออกของมณฑลจี๋หลินใกล้กับทะเลหวงไห่และทะเลญี่ปุ่น จึงทำให้อากาศค่อนข้างชุ่มชื้น และมีปริมาณน้ำฝนมาก ส่วนพื้นที่ด้านตะวันตกอยู่ห่างจากทะเล แต่ใกล้กับที่ราบสูงมองโกลซึ่งอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง

ส่งผลให้มณฑลจี๋หลินมีความแตกต่างระหว่างฤดูทั้ง 4 ฤดูอย่างชัดเจน คือ

  • ฤดูใบไม้ผลิมีอากาศแห้งและลมแรง
  • ฤดูร้อนอุณหภูมิสูงและฝนตกชุก
  • ฤดูใบไม้ร่วงอากาศปลอดโปร่ง
  • ฤดูหนาวอากาศหนาวยาวนาน
  • อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 2-6 องศาเซลเซียส
  • ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 600-700 มิลลิเมตร

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

มณฑลจี๋หลินแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 เมือง และ 1 เขตปกครองตนเอง ได้แก่

  • นครฉางชุน
  • เมืองจี๋หลิน
  • เมืองซื่อผิง
  • เมืองเหลียวหยวน
  • เมืองทงฮั่ว
  • เมืองไป๋ซาน
  • เมืองซงหยวน
  • เมืองไป๋เฉิง
  • เขตการปกครองตนเองชนชาติเกาหลีหรือเฉาเสี่ยน (ที่มีอาณาเขตติดกับชายแดนระหว่างประเทศจีนและประเทศเกาหลีเหนือ)

รูปแบบการปกครองมณฑลจี๋หลิน

หน่วยงานต่างๆ ของมณฑลจี๋หลิน

Agriculture Commission Audit Department
Civil Affairs Department Commerce Department
Communications Department Construction Department
Culture Department Development and Reform Commission
Economic Commission Education Department
Environmental Protection Bureau Ethnic Affairs Commission
Finance Department Food and Drug Administration
Foreign Affairs Office (Overseas Chinese Affairs Office) Forestry Department
Grain Bureau Health Department
Industry and Commerce Administration Information Industry Department
Justice Department Labour and Social Security Department
Land and Resources Department Legislative Affairs Office
Local Taxation Bureau Personnel Department
Population and Family Planning Commission Press and Publication Bureau
Provincial General Office Quality and Technical Supervision Bureau
Radio, Film and Television Bureau Restructuring Economic System Office
Science and Technology Department Sport Bureau
State-owned Assets Supervision and Administration Commission Statistics Bureau
Tourism Bureau Water Resources Department

ที่มา : http://www.chinaknowledge.com/

ผู้บริหารฝ่ายการเมือง

นายปาอินฉาวหลู่ (Bayinchaolu)

เลขาธิการพรรคฯ

นายจิง จุ้นไห่ (Jing Junhai)

ผู้ว่าการมณฑล

นายปาอินฉาวหลู่ (Bayinchaolu)

ปธ.สภาผู้แทน ปชช.

นายเจียง เจ๋อหลิน (Jiang Zelin)

ปธ.สภาที่ปรึกษาการเมือง

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาครัฐบาลมณฑลจี๋หลินได้ http://www.jl.gov.cn/

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมืองสำคัญ

1. นครฉางชุน

  • เป็นเมืองหลวงของมณฑลจี๋หลิน ได้รับขนานนามว่า “เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิทางตอนเหนือของประเทศจีน”
  • มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 250-350 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 5.2 องศาเซลเซียส
  • ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 522-615 มิลลิเมตร
  • มีเนื้อที่ทั้งหมด 20,571 ตร.กม. เป็นพื้นที่เขตเมือง 2,583 ตร.กม.
  • ปี 2010 นครฉางชุนมีจำนวนประชากรทั้งหมด 7,67,000 คน

นครฉางชุนเป็นเมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สำคัญ นับเป็นแหล่งผลิตรถยนต์และรถบรรทุกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายสำคัญที่เข้ามาลงทุนได้แก่ Volkswagen, Audi, Toyota เป็นต้น

และยังมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในจีนเองที่เข้ามาลงทุนได้แก่ หงฉี เจี่ยฟั่ง เซี่ยลี่ เป็นต้น โดยหลายปีที่ผ่านมา นครฉางชุนพยายามที่จะรักษาระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์ให้คงที่ ขณะเดียวกันก็พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงไปพร้อมกัน เพื่อพัฒนาให้เป็น 3 อุตสาหกรรมหลักของนครฉางชุน

2. เมืองจี๋หลิน

  • เมืองจี๋หลินเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากนครฉางชุน
  • ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครฉางชุน มีเนื้อที่ทั้งหมด 27,120 ตร.กม. เป็นเนื้อที่เขตเมือง 3,636 ตร.กม.
  • ทิศตะวันออกติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติเกาหลี
  • ทิศตะวันตกติดกับนครฉางชุนและเมืองซื่อผิง
  • ทิศเหนือติดกับมณฑลเฮยหลงเจียง
  • ทิศใต้ติดเมืองหุนเจียง
  • เมืองจี๋หลินมีจำนวนประชากรประมาณ 4 ล้านคน

เมืองจี๋หลินเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ 
ลักษณภูมิประเทศจะลาดเอียงจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยสามารถแบ่งพื้นที่ตามลักษณะภูมิประเทศได้ดังนี้

เขตพื้นที่ภูเขาจงซาน อยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองจี๋หลิน เป็นเขตป่าไม้ที่สำคัญของเมืองจี๋หลิน เขาฉางไป๋ซาน เขาหนานโหลว เทือกเขาหลงกั่ง และอีกหลายเขาก็อยู่ในเขตนี้ โดยในเขตมียอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไปจำนวน 110 ยอดเขา ยอดที่สูงที่สุดสูง 1,407.8 เมตร

เขตทิวเขาตีซาน ยอดเขาในเขตนี้ส่วนใหญ่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 300-400 เมตร มีจำนวนน้อยที่สูงถึง 600-700 เมตร เป็นเขตที่ได้รับการพัฒนาเป็นเขตแรกๆ ทำให้พื้นที่ป่าในเขตลดน้อยลง โดยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลายด้าน ทั้งด้านการเพาะปลูก ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง และเหมืองแร่

เขตหุบเขาเสียกู่ เป็นเขตสถานีผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเฟิงหม่าน มีทัศนียภาพสวยงาม เป็นเขตสำคัญในการผลิตพลังงาน เขตประมง เขตท่องเที่ยว และเขตพัฒนาเศรษฐกิจ

เขตพื้นที่ราบเหอกู่ เป็นเขตที่มีแม่น้ำซงฮัวไหลผ่านและแตกแยกออกเป็นหลายสาย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-220 เมตร เป็นเขตที่ดินมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นเขตเพาะปลูกที่สำคัญที่สุดของเมือง

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

1.เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงฉางชุน 
(Changchun National High-Technology Industry Development Area)

ตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 เป็นเขตพัฒนาระดับประเทศ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครฉางชุน มีเนื้อที่ 78.6 ตร.กม. อุตสาหกรรมหลักในเขตนี้ได้แก่ อุตสาหกรรมชีววิทยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ อุตสาหกรรม Photonics Technology และอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์สมัยใหม่

ปัจจุบัน มีวิสาหกิจทั้งจากในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนรวมมากกว่า 2,200 ราย เป็นวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีชั้นสูงเกือบ 800 ราย และมีทุนจากประเทศต่างๆ รวมกว่า 29 ประเทศ เข้ามาลงทุน ที่สำคัญอาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีฉางชุน
(Changchun Economic & Technological Development Zone)

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครฉางชุนมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ห่างจากสถานีส่งสินค้าทางรถไฟเพียง 2 กม. ห่างจากท่าเรือต้าเหลียน ประมาณ 6 ชั่วโมง (ทางรถยนต์) ห่างจากสนามบินนานาชาติฉางชุนหลงเจีย (Changchun Longjia International Airport) 26 กม. และมีทางด่วนฉางชุน-ต้าเหลียน ฮาร์บิน-ต้าเหลียน และฉางชุน-จี๋หลิน ผ่านเขตพัฒนานี้ด้วย มีพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม.

ปัจจุบัน มีวิสาหกิจทั้งจากในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนรวมมากกว่า 4,800 ราย เป็นบริษัทร่วมทุนจากต่างประเทศ 495 ราย เป็นบริษัทในประเทศ 3,541 ราย

3. เขตพัฒนาเศรษฐกิจฉางชุนจิงแย่
(Changchun Jingyue Economic Development Zone)

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครฉางชุน ห่างจากใจกลางเมืองฉางชุน 18 กม. ห่างจากสถานีรถไฟฉางชุน 16 กม. และห่างจากสนามบินนานาชาติฉางชุนหลงเจีย (Changchun Longjia International Airport) 29 กม. อุตสาหกรรมหลักในเขตคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภายในเขตมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว เป้าหมายคือการพัฒนาให้กลายเป็นเขตท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและให้มีมาตรฐานระดับประเทศ โดยไม่เพียงแต่เน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เขตพัฒนาฯ ดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์การท่องเที่ยวและพักผ่อนครบวงจร

4. เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงจี๋หลิน
(Jilin National Hi – tech Industrial Development Zone)

เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงจี๋หลิน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 มีเนื้อที่ทั้งหมด 11.18 ตร.กม. เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรม 6 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ และอุตสาหกรรมการบริการแบบทันสมัย ซึ่งได้ตั้งเป้ามูลค่าการผลิตจะสูงถึง 200,000 ล้านหยวนภายในปี 2563

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางทางบก

สิ้นปี 2557 มณฑลจี๋หลินมีความยาวของเส้นทางรถไฟทั่วทั้งมณฑลรวมกัน 4,345 กิโลเมตร โดยมีนครฉางชุนเป็นศูนย์กลาง และเมืองจี๋หลิน เมืองซี่ผิง เมืองไป๋เฉิง เมืองเหมยเหอโข่วเป็นจุดสำคัญในการกระจายเส้นทางไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศจีน อาทิเช่น ฮาร์บิน เสิ่นหยาง ต้าเหลียน ปักกิ่ง เทียนจิน ซีอาน สือเจียจวง อู่ฮั่น จี้หนาน หนานจิง หนานจิง กวางโจว เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

สิ้นปี 2557 มณฑลจี๋หลินมีความยาวของทางหลวงรวม 96,000 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นทางด่วน 2,348 กิโลเมตร ปัจจุบัน มณฑลจี๋หลินมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสำคัญ 3 สาย ได้แก่

  • เส้นทางฮาร์บิน-ต้าเหลียนที่แล่นผ่านมณฑลจี๋หลิน
  • เส้นทางฉางชุน-จี๋หลิน
  • เส้นทางจี๋หลิน-ฮุยชุน

เส้นทางทางน้ำ

มณฑลจี๋หลินมีท่าเรือ (แม่น้ำ) ทั้งหมด 5 ท่าเรือ มีศักยภาพในการรองรับสินค้าประมาณ 1.8 ล้านตันต่อปี แม่น้ำสายหลักในการขนส่งสินค้าและคมนาคมได้แก่ แม่น้ำเนิ่น แม่น้ำซงฮัว แม่น้ำถูเหมิน และแม่น้ำยาลู่ โดยช่วงกลางเดือนเมษายน-ปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการเดินเรือในแม่น้ำ โดยสามารถขนส่งสินค้าไปเข้าท่าเรือบางท่าในรัสเซียได้ และยังสามารถขนส่งสินค้าออกไปยังทะเลญี่ปุ่นผ่านแม่น้ำในมณฑลได้ด้วย

เส้นทางทางอากาศ

มณฑลจี๋หลินมีสนามบินทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่

  • สนามบินฉางชุน
  • สนามบินจี๋หลิน
  • สนามบินแหยนจี๋
  • สนามบินต้าฟางเฉิง
  • สนามบินฉางไป๋ซาน

โดยมีสายการบินที่บินตรงถึงประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สำหรับสนามบินนครฉางชุน ในปี 2557 ได้รองรับจำนวนผู้โดยสาร 7,420,000 คน และสามารถรองรับสินค้าได้ 79,918 ตันต่อปี ส่วนสนามบินต้าฟางเฉิงซึ่งแต่เดิมเป็นสนามบินที่ใช้สำหรับกิจการทหาร และต่อมาได้ปรับให้เป็นสนามบินสำหรับภาคพลเรือน ก็ได้เพิ่มความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น

เศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลจี๋หลิน

1) แผนงาน/เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011 – 2015)

  • GDP เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 12 และเพิ่มประสิทธิผลและคุณภาพทางการเติบโต
  • เร่งส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมใหม่ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบ และอุตสาหกรรมไฮเทคครองสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมร้อยละ 68 และร้อยละ 20 ตามลำดับ
  • อัตราความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60
  • เพิ่มการจ้างงานใหม่จำนวน 500,000 อัตราต่อปี
  • ตราการเติบโตของรายได้ประชากรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12
  • งบประมาณของ R&D ครองสัดส่วนของ GDP ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2
  • เศรษฐกิจภาคเอกชนครองสัดส่วนของ GDP ร้อยละ 60
  • ยอดการค้าระหว่างประเทศเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี เร่งส่งเสริมการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจแม่น้ำถูเหมินเจียง
  • พัฒนามณฑลจี๋หลินให้เป็นฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์ 4 ล้านคัน
  • พัฒนามณฑลจ็หลินให้เป็นฐานอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่สำคัญภายในประเทศ โดยมีมูลค่าเพิ่ม 100,000 ล้านหยวน

2) แผนงาน/เป้าหมายประจำปี ค.ศ. 2015

  • GDP เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.5
  • รายได้ทางการคลังของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
  • ปริมาณการใช้พลังงานในการผลิตลดลงร้อยละ 1.3
  • รักษาดัชนีราคาผู้บริโภคให้ไม่เกินร้อยละ 3
  • รายได้ประชาชนเติบโตร้อยละ 8.5
  • รักษาอัตราการว่างงานให้ไม่เกินร้อยละ 4.5
  • การลงทุนทรัพย์สินถาวรเติบโตร้อยละ 12
  • ผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ 8 โครงการ
  • มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเติบโตร้อยละ 5 ส่งเสริมวิสาหกิจ “ก้าวออกไป”
  • ฟื้นฟูอุตสาหกรรทการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • เป็นแหล่งผลิต แปรรูปและส่งออกโสมที่ใหญ่สุดในจีน
  • เป็นเขตที่มีการเลี้ยงกวางเพื่อการพาณิชย์ที่สำคัญที่สุดของจีน โดยเฉพาะเขากวางอ่อนเป็นวัตถุดิบสำคัญของยาจีนแผนโบราณ
  • เป็นฐานการผลิตอุตาสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน
  • เป็นแหล่งหินน้ำมันซึ่งมีปริมาณมากที่สุดในประเทศ
  • เป็นแหล่งธัญพืชที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะข้าวโพด ทำให้จี๋หลินได้รับสมญานามว่า “เขตข้าวโพดสีทอง (Golden Corn Belts)” โดยมีไร่ข้าวโพด ผลผลิตและการส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของจีน

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

รัฐบาลจี๋หลินให้ความสำคัญในการส่งเสริมบริษัทต่างประเทศลงทุนในสาขาอุตสาหกรรม ดังนี้

  • อุตสาหกรรมการก่อสร้างระบบสาธารณะและอุตสาหกรรมการพัฒนาทรัพยากร
  • ธุรกิจการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทที่มีอยู่แล้ว
  • อุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบของมณฑลจี๋หลิน
  • อุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนและเทคโนโลยีมาก

ส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รายละเอียดดังนี้ http://www.jl.gov.cn/tzjl/tzzc/201103/t20110331_970005.html

ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจ

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน