HUNAN

มณฑลหูหนาน

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

มณฑลหูหนาน (Hunan) หรือที่เรียกกันว่า “เซียง” (Xiang) ตั้งอยู่ทางตอนกลางของภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีอาณาเขตติดต่อกับ 5 มณฑล และ 1 เขตปกครองตนเอง คือ ทิศเหนือติดกับมณฑลหูเป่ย (Hubei) ทิศใต้ติดกับมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) และเขตปกครองตนเองกวางสี (Guangxi) ทิศตะวันออกติดกับมณฑลเจียงซี (Jiangxi) ทิศตะวันตกติดกับมณฑลฉงชิ่ง (Chongqing) และมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 210,000 ตารางกิโลเมตร (ราว 2 ใน 5 ของประเทศไทย) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ของทะเลสาบต้งถิง (Dongting) และพื้นที่ 2 ใน 3 ของหูหนาน เป็นภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก ตะวันตกและภาคใต้ของมณฑล ส่วนทางตอนกลางเป็นพื้นที่ราบสลับกับเขตภูเขา และที่ราบขนาดเล็กรอบทะเลสาบต้งถิงทางภาคเหนือตอนกลางของมณฑล

ข้อมูลประชากร

66.44 ล้านคน (ปี 2563) ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น และร้อยละ 5 เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งได้แก่ แม้ว (Miao) ถู่เจีย (Tujia) ต้ง (Dong) เย้า (Yao) หุย (Hui) หรือมุสลิม อุยเกอร์ (Uygur) และจ้วง (Zhuang)

สภาพภูมิอากาศ

อยู่ในเขตกึ่งร้อนชื้นตอนกลาง จึงมีภูมิอากาศแบบมรสุม เป็นผลให้ได้รับแสงแดดและฝนตกมาก อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง16-18องษาเซลเซียส โดยอุณหภูมิในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จะอยู่ระหว่าง 4-8องศาเซลเซียส และในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน จะอยู่ระหว่าง 26-30 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปีของมณฑลหูหนานเท่ากับ1,200-1,700 มิลลิเมตร โดยฝนจะตกมากในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

ทรัพยากรสำคัญ

เป็นแหล่งของโลหะและอโลหะมากมาย โดยเฉพาะพลวงดำ แบไรท์ ทังสเตน แมงกานิส วานาเดียม ตะกั่ว สังกะสี ฟลูออไรต์ บิสมัท โมนาไซต์ เป็นต้น หูหนานมีปริมาณน้ำจืดมากเป็นอันดับ 2 ของจีน เนื่องจากมีทะเลสาบต้งถิง (Dongting Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อมณฑล “หูหนาน” ที่แปลว่า “ทิศใต้ของทะเลสาบ” และได้สมญานามว่าเป็น “แหล่งผลิตข้าวและปลาน้ำจืดรายใหญ่ของจีน” อีกทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สุกรอันดับ 2 ของจีนอีกด้วย พืชเกษตรที่ติดอันดับต้น ๆ ของจีน ได้แก่ เม็ดบัว ชา ชาน้ำมัน พริก ป่านรามี ส้ม (柑桔) และผงพริกไทย

หูหนานนอกจากมีทะเลสาบต้งถิง (Dongting) และทะเลสาบต้าถง (Datong) ไหลผ่านแล้ว ยังมีแม่น้ำที่สำคัญไหลผ่านหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำเซียง (Xiang) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดภายในมณฑลหูหนาน โดยไหลจากทางเหนือสู่ทางใต้ของมณฑล แม่น้ำหยวนเจียง (Yuanjiang) แม่น้ำจื๋อสุ่ย (Zishui) และแม่น้ำแยงซี (Yangtze) ซึ่งไหลผ่านเขตแดนมณฑลทางทิศเหนือติดกับทะเลสาบต้งถิง

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

หูหนานมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานและมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า เคยมีมนุษย์โบราณตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลหูหนานมาเป็นเวลามากกว่า 8,000 ปีแล้ว มณฑลหูหนานเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสู (State of Shu) ซึ่งเคยเป็นอาณาจักรใหญ่แห่งหนึ่งของจีน มีอาณาเขตพื้นที่ปกครองครอบคลุมภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน การเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสูนี้ ได้ส่งผลให้มณฑลหูหนานได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมสูด้วยนอกจากนั้นราว 221 ปีก่อนคริสตกาล จักรพรรดิ์จิ๋นซี หรือฉิน ฉือหวง (Qin Shihuang) ได้รวบรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของมณฑลหูหนานขึ้นอย่างเป็นระบบ

คำว่า หูหนาน เริ่มใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 736 สมัยราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty) ซึ่งจักรพรรดิ์ในสมัยนั้นได้ส่งคณะผู้แทนราชสำนัก เรียกว่า ผู้สังเกตการณ์ไปเขตทิศใต้ของทะเลสาบ หรือพูดเป็นภาษาจีนกลางว่า หูหนาน นับแต่นั้นมา จากนั้น ในปี ค.ศ.1664 สมัยราชสำนักชิง (Qing Dynasty) ได้มีการกำหนดเขตและจัดตั้งหูหนานขึ้นเป็นมณฑล

ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน มณฑลหูหนานเป็นสถานที่เกิดของนักรบ นักคิด นักการเมืองทหาร และนักวิทยาศาสตร์ของจีนจำนวนมาก เช่น ชู หยวน (Qu Yuan) กวีเอกสมัยอาณาจักรสู ไฉ้ หลุน (Cai Lun) ผู้คิดวิธีการทำกระดาษด้วยเปลือกไม้ ในช่วงศตวรรษแรกของคริสตกาลหวัง ฟูจื๋อ (Wang Fuzhi) นักปรัชญาจีน ในช่วงศตวรรษที่ 17 ถาน ซือถง (Tan Sitong) เป็น 1 ใน 6 ของบุคคลหัวก้าวหน้าในช่วงการปฏิรูปปี 2441 หวง ซิง (Huang Xing) ซ่ง เจี้ยวเหริน (Song Jiaoren) และไฉ้ เอ๋อ (Cai E) ผู้นำในช่วงการปฏิวัติ ปี 2454 ซึ่งเป็นการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty)

นอกจากนี้ มณฑลหูหนานยังเป็นบ้านเกิดของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนสำคัญของจีน ได้แก่ เหมา เจ๋อตุง (Mao Zedong) หลิว เส้าฉี (Liu Shaoqi) เหริน ปี้สือ (Ren Bishi)เผิง เต๋อฮว้าย (Peng Dehuai) เห้อ หลง (He Long) และหลัว หรงหวน (Luo Ronghuan)

2. การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

ประกอบด้วย 13 เมือง 1 เขต 122 อำเภอ คือ

  1. 13 เมือง ได้แก่ นครฉางซา (Changsha) เมืองเย่วหยาง (Yueyang) เมืองจูโจว (Zhuzhou) เมืองเซียงถาน (Xiangtan) เมืองเหิงหยาง (Hengyang) เมืองเซ่าหยาง (Shaoyang) เมืองฉางเต๋อ (Changde) เมืองอี้หยาง (Yiyang) เมืองเฉินโจว (Chenzhou) เมืองหยงโจว (Yongzhou) และเมืองจางเจียเจี้ย (Zhangjiajie) เมืองโหลวตี่ (Loudi) และเมืองหวยฮั่ว (Huaihua) โดยมีนครฉางซาเป็นเมืองเอก
  2. 1 เขตปกครองตนเอง ได้แก่ เขตปกครองตนเองชนชาติถู่เจียและชนชาติเหมียว (Xiangxi Tujia-Miao Nationality Autonomous Prefecture)

ดาวน์โหลดข้อมูลพื้นฐาน มณฑลหูหนาน

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมือง (เขต) สำคัญของมณฑลหูหนาน

1. นครฉางซา (Changsha)

เป็นเมืองเอกของมณฑลหูหนาน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำเซียง และอยู่ทางตอนเหนือติดกับทะเลสาบต้งถิง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 12,500 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของจีน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของมณฑลหูหนานด้วย นครฉางซามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานมากกว่า 3,000 ปี ในสมัยราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty) ในราวศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ราชสำนักได้สั่งการให้มีการจัดตั้งเขตฉางซา (Changsha Prefecture) เป็นลักษณะเขตการปกครอง และต่อมาเปลี่ยนชื่อเขตฉางซาเป็นรัฐฉางซา (State of Changsha) ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) หลักฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในนครฉางซาได้แสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของนครฉางซา เช่น เมื่อปี 2515-2517 นักโบราณคดีได้ขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่สุสานของราชวงศ์ฮั่น (the Han tombs) ที่หม่าหวางตุย (Mawangdui) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเขตชานเมืองนครฉางซา เป็นต้น ช่วงระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่น (the War of Resistance Against Japanese Aggression) ในปี 2480-2488 นครฉางซาได้ถูกไฟไหม้ทำลายเสียหายมาก หลังจากที่จีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2492 จนปัจจุบันหรือตลอดระยะเวลาประมาณ 50 กว่าปีที่ผ่านมา นครฉางซาได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นโดยลำดับ จากเดิมที่เป็นเฉพาะการพาณิชย์ จนมาเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่แบบครบวงจร ทั้งภาคอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

2. เมืองจูโจว (Zhuzhou)

ตั้งอยู่ทางตอนกลางของมณฑลหูหนาน ริมฝั่งแม่น้ำเซียง เป็นศูนย์กลางคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี มีพื้นที่ 11,420 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของมณฑลหูหนาน โดยอุตสาหกรรมหลักของเมืองจูโจว ได้แก่ การถลุงโลหะ การผลิตเครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง เคมี วัสดุก่อสร้าง พลังงานไฟฟ้า และสิ่งทอ เมืองจูโจวยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องยนต์อากาศยาน (aero-engine) หัวรถจักรไฟฟ้า (electriclocomotive) เพชรเทียม (synthetic diamonds) ทั่งตีเหล็กด้วยโลหะผสมชนิดแข็ง (hardalloy anvil) และรถบรรทุกเพื่อใช้งานหนัก

3. เมืองเหิงหยาง (Hengyang)

ตั้งอยู่ตรงจุดที่แม่น้ำ 3 สาย (แม่น้ำเซียง แม่น้ำเจิงและแม่น้ำเล่ย) ไหลมาบรรจบกัน ถือเป็นประตูสู่มณฑลกวางตุ้งและเขตกวางสี มีพื้นที่ 15,300 ตารางกิโลเมตร มีทรัพยากรแร่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า 50 ชนิด เหมืองแร่ที่สำคัญ ได้แก่ สุ่ยโข่วซาน (Shuikoushan) ซึ่งเป็นเหมืองตะกั่วและสังกะสี ถือเป็นเหมืองแร่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก นอกจากนี้ แหล่งเกลือสินเธาว์ (salt deposit) ในเมืองเหิงหยาง ถือเป็นแหล่งสำรองเกลือที่มีปริมาณมากที่สุดของมณฑลหูหนาน อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างเครื่องจักรด้านเวชกรรม อุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ

4. เมืองเซียงถาน (Xiangtan)

ตั้งอยู่ทางตอนกลางของมณฑลหูหนาน และติดกับนครฉางซาและเมืองจูโจว กลายเป็นเขต CZT (Changsha-Zhuzhou-Xiangtan) มีพื้นที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร เมืองเซียงถานมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี ในอดีตเคยเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งกำหนดไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีฉบับแรกของจีน ปัจจุบัน เมืองเซียงถานเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าแห่งหนึ่ง โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง การถลุงโลหะ วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ และการพิมพ์

5. เมืองเส้าหยาง (Shaoyang)

ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลหูหนาน มีแม่น้ำจือ (Zhi River) ไหลผ่านเมือง เมืองเส้าหยางมีพื้นที่ทั้งสิ้น 20,000 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศของเมืองเส้าหยางมีความหลากหลาย มีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ และมีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกธัญพืช เมืองเส้าหยางยังเป็นที่รู้จักในฐานะที่มีพื้นที่ป่าไม้ขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 ของมณฑลหูหนาน นอกจากนี้ ยังมีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่บนภูเขาสูง ซึ่งเหมาะแก่การทำปศุสัตว์อีกด้วย เมืองเส้าหยางมีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 2,000 ปี โดยในอดีตมีชื่อว่า เมืองเป่าชิ่ง (Baoqing) ปัจจุบันในเขตเมืองเส้าหยางยังคงเหลือร่องรอยโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ อยู่ ซึ่งหลายแห่งมีทิวทัศน์ที่สวยงาม

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

1. Hunan Changsha Economic and Technological Development Zone

ตั้งอยู่ที่นครฉางซา (Changsha) เป็นเขตการลงทุนพิเศษ ก่อตั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และการค้าบริการ เช่น อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ไบโอ-วิศวกรรม อุตสาหกรรมพลังงาน การสื่อสาร บริษัทที่มาลงทุนในเขตนี้จะได้สิทธิพิเศษด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะถูกจัดเก็บในอัตรา 15%

2. Changsha National High-Tech Industrial Development Zone

ตั้งอยู่ที่นครฉางซา (Changsha) เป็นเขตอุตสาหกรรมระดับประเทศ ก่อตั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 มีเนื้อที่ทั้งหมด 18.6 ตารางกิโลเมตร และอีก 4 ตารางกิโลเมตรเป็นส่วนของสวนอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์เย่วลู่ซาน (Yuelushan) ภายในเขตอุตสาหกรรมมีสาธารณูปโภคครบถ้วน เช่น พลังงานไฟฟ้า การประปา ระบบกำจัดน้ำเสีย การบริการด้านการสื่อสารและคมนาคม และองค์กรที่ให้บริการเฉพาะด้านอื่น ๆ ภายในเขตอุตสาหกรรมมีการแบ่งสัดส่วนการใช้พื้นที่เป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรม และเขตที่พักอาศัย บริษัทที่เข้ามาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมนี้มีทั้งบริษัทต่างชาติ และบริษัทสัญชาติจีน

3. Yueyang Economic and Technological Development Zone

ตั้งอยู่ที่เมืองเยว่หยาง (Yueyang) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1992 จัดเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของมณฑลหูหนาน เนื่องจากที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมสะดวกต่อการขนส่งทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เขตอุตสาหกรรมนี้มีเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 2 โซน คือโซนปาเจียหู (Bajiaohu zone) และโซนไป๋ซือหลิง (Baishiling zone) ภายในเขตอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งศุลากร หน่วยงานตรวจสอบสินค้า สถานที่กักกัน (การแพร่เชื้อโรค) และบริการแลกเปลี่ยนเงินตรา นอกจากนี้ยังมีสาธารณูปโภคครบถ้วน เช่น พลังงานไฟฟ้า การประปา และการบริการด้านการสื่อสาร

4. Zhuzhou National and High-Tech Industrial Development Zone

ตั้งอยู่ที่เมืองจูโจว (Zhuzhou) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1993 เป็นเขตอุตสาหกรรมระดับประเทศ ถือเป็นศูนย์กลางการติดต่อและแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญทางภาคใต้ของประเทศจีน มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีการก่อตั้งส่วนของสวนอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับบริการด้านสาธารณูปโภคนั้น มีพลังงานไฟฟ้า การประปาให้บริการได้อย่างเพียงพอ มีบริการด้านสื่อสารและโทรคมนาคม ในเขตอุตสาหกรรมนี้ส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อุตสาหกรรมเคมี และสินค้าไฮเทค

5. Xiangtan High-Tech Industrial Development Zone

ตั้งอยู่ในเมืองเซียงถาน (Xiangtan) ทางตะวันออกกลางของมณฑลหูหนาน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1992 ในเขตอุตสาหกรรมมีเนื้อที่ 38.1 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยสวนอุตสาหกรรม 4 แห่ง คือ Xiangtan (Germany) Industrial Park, New Material Industrial Park, College Science & Technology Park และ WIPE Industrial Supermarket

6. South Hunan Pilot Zone for Reform and Opening Transition

ตั้งอยู่ในเมืองเฉินโจว (Chenzhou) และหยงโจว (Yongzhou) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1988

7. Huaihua Mountainous Area Open and Development Pilot Zone

ตั้งอยู่ในเมืองหวยฮั้ว (Huaihua) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1990

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางทางบก

1) เส้นทางถนน

จนถึงสิ้นปี 2563 มณฑลหูหนานมีระยะทางของทางหลวงกว่า 200,000 กิโลเมตร และทางด่วน 6,951 กม. สูงเป็นอันดับ 10 ของจีน และไปเชื่อมกับทางด่วนระดับประเทศ ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากหูหนานไปมณฑลอื่น อาทิ ยูนนาน กว่างซี เสฉวน กวางตุ้ง ปักกิ่ง มองโกเลียใน ฝูเจี้ยน และเซี่ยงไฮ้ มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ทางด่วนระดับประเทศที่พาดผ่านหูหนานไปยังมณฑลต่าง ๆ มี 7 เส้นทาง ได้แก่
– ทางด่วนเฉวียนโจว-หนานหนิง泉南高速公路 (ฝูเจี้ยน-เจียงซู-หูหนาน-กว่างซี)
– ทางด่วนเซี่ยงไฮ้-คุนหมิง沪昆高速公路 (เซี่ยงไฮ้-เจ้อเจียง-เจียงซี-หูหนาน กุ้ยโจว-ยูนนาน)
– ทางด่วนหังโจว-รุ่ยลี่杭瑞高速公路 (เจ้อเจียง-อันฮุย-เจียงซี-หูเป่ย-หูหนาน-กุ้ยโจว-ยูนนาน)
– ทางด่วนเซี่ยเหมิน-เฉิงตู 厦蓉高速公路 (ฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนาน กว่างซี กุ้ยโจว เสฉวน)
– ทางด่วนเปาโถว-เม่าหมิง包茂高速公路 (มองโกเลียใน ส่านซี เสฉวน ฉงชิ่ง หูหนาน กว่างซี กวางตุ้ง)
– ทางด่วนเอ้อเหลียนฮ่าวเท่อ-กวางตุ้ง二广高速公路 (มองโกเลียใน ซานซี เหอหนาน หูเป่ย หูหนาน กวางตุ้ง)
– ทางด่วนปักกิ่ง-ฮ่องกง 京港澳高速公路 (ปักกิ่ง เหอเป่ย เหอหนาน หูเป่ย หูหนาน กวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊า)

2) เส้นทางรถไฟ

2.1 รถไฟความเร็วสูง

จนถึงสิ้นปี 2563 มณฑลหูหนานมีระยะทางของรถไฟ 5,572 กม. และรถไฟความเร็วสูง 1,986 กม. สูงเป็นอันดับ 8 ของจีน โดยนครฉางซามีรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองเอกใน 23 มณฑล/เขตของจีน (จาก 31 มณฑล/เขตของจีน) ทำให้การเดินทางจากฉางซาไปยังมณฑลอื่นสะดวกรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงยังพาดผ่านเกือบทุกเมืองของมณฑล ยกเว้นเขตฯ เซียงซี

2.2 โครงการรถไฟเชื่อม 3 เมืองสำคัญในมณฑลหูหนาน (Changsha-Zhuzhou-Xiangtan Intercity Railway)
คือ การก่อสร้างรถไฟด่วนเชื่อมเขต CZT (นครฉางซา เมืองจูโจวและเมืองเซี่ยงถาน) ความเร็ว 200 กม./ชม. ระยะทางรวม 104.5 กม. เงินลงทุน 26,756 ล้านหยวน และใช้เวลาเดินทางระหว่างกันไม่เกิน 1 ชม. เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทการรถไฟแห่งชาติจีนกับรัฐบาลมณฑลหูหนาน (ถือหุ้นคนละครึ่ง) ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่ 16 ธ.ค. 2559 ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับประชาชนนอกเหนือไปจากการใช้รถยนต์ รถประจำทาง และรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายการเชื่อมโยงไปยังอีก 5 เมืองต่อไป ได้แก่ ฉางเต๋อ อี้หยาง เย่วหยาง โหลวตี่ และเหิงหยาง

2.3 รถไฟใต้ดิน

ตามแผนระยะยาวของการพัฒนารถไฟใต้ดิน นครฉางซาจะมีรถไฟใต้ดินรวมทั้งหมด 12 เส้นทาง ระยะทาง
456 กม. โดยสาย 1-6 จะเป็นสายหลักในเขตตัวเมือง สาย 7-10 เป็นส่วนต่อเติมของสายหลักในเขตตัวเมือง และ
สาย 11-12 เป็นสายด่วนรอบเมือง

ปัจจุบัน รถไฟใต้ดินในนครฉางซาเปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 5 สาย ได้แก่ สาย 1-5 รวมระยะทาง 161 กม. ส่วนสาย 6 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และสาย 7 อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ทั้งนี้ ในปี 2563 มีผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 1.05 ล้านคน และสูงสุดมีจำนวนถึง 2.66 ล้านคน

2.4 รถไฟแม็กเลฟ (Changsha Maglev Express)

2.4.1 Changsha Maglev Express เป็นรถไฟที่เคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้าลอยตัวเหนือราง (magnetically levitating : maglev) สายแรกที่ออกแบบ ผลิต และบริหารงานโดยจีนทั้งหมด ให้บริการภายในนครฉางซา ซึ่งกลายเป็นเมืองที่ 2 ของจีนที่เปิดเส้นทางเดินรถไฟฟ้าแม็กเลฟ ต่อจากมหานครเซี่ยงไฮ้ (เป็นแม็กเลฟที่จีนพัฒนาร่วมกับประเทศเยอรมนี ระยะทางรวม 30 กม. ความเร็วสูงสุด 430 กม./ชม. เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2545)

Changsha Maglev Express เริ่มก่อสร้างเมื่อ 16 พ.ค. 2557 เปิดทดลองวิ่งเมื่อ 26 ธ.ค. 2558 และเปิดให้ บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2559 ออกแบบและผลิตโดยบริษัท CRRC Zhuzhou Locomotive ร่วมกับมหาวิทยาลัยของจีน อาทิ National University of Defense Technology มีอัตราความเร็วระดับกลาง-ต่ำ (Medium-Low Speed Maglev Train) สามารถเร่งความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม. เป็นรถไฟขนาด 3 ตู้ ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 363 คน เงินลงทุน 4,095 ล้านหยวน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Medium-Low Speed Maglev Train ต่อจากเยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

Changsha Maglev Express มี 3 สถานี คือ สถานีสนามบินนานาชาติหวงฮัวฉางซา-สถานีหล่างหลี- สถานีรถไฟฉางซาสายใต้ (หรือสถานีรถไฟความเร็วสูง) ระยะทางรวม 18.55 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที ค่าบัตรโดยสารจากสถานีต้นทาง-สถานีปลายทางราคา 20 หยวน โดยมีผู้โดยสารใช้บริการวันละประมาณ 10,000 คน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 รถไฟแม็กเลฟเชิงพาณิชย์สัญชาติจีนตัวต้นแบบรุ่นที่ 2 ซึ่งสามารถทำความเร็วได้ 160 กม./ชม. ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว และปัจจุบันบริษัท CRRC Zhuzhou Locomotive อยู่ระหว่างการพัฒนารถไฟแม็กเลฟเชิงพาณิชย์รุ่นที่ 3 ซึ่งกำหนดความเร็วที่ 200 กม./ชม. โดยรถไฟแม็กเลฟทั้ง 3 รุ่นล้วนใช้ชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ที่ผลิตในมณฑลหูหนานกว่าร้อยละ 90

2.4.2 โครงการก่อสร้างรถไฟแม็กเลฟเพื่อการท่องเที่ยวเมืองโบราณเฟิ่งหวง ในเขตฯ เซียงซี ได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง Hunan Maglev Group กับรัฐบาลอำเภอเฟิ่งหวง ถือเป็นรถไฟแม็กเลฟเชิงพาณิชย์เส้นทางที่ 2 ที่สร้างและลงทุนโดยมณฑลหูหนาน ต่อจากรถไฟแม็กเลฟนครฉางซา คาดว่าโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างเสร็จในปี 2564

2.5 รถไฟสินค้าหูหนาน-ยุโรป (Hunan-Europe Railway Express)

เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2557 โดยนครฉางซาถือเป็นเมืองที่เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปที่มีศักยภาพ 10 อันดับแรกของจีน และยังเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express)” ปัจจุบัน นครฉางซามีขบวนเดินรถกว่า 10 เส้นทางเชื่อมต่อไปหลายประเทศ เช่น ฮัมบูร์ก (เยอรมนี) ทาชเคนต์ (อุซเบกิสถาน) มินสก์ (เบลารุส) Malaszewicze และวอร์ซอ (โปแลนด์) บูดาเปสต์ (ฮังการี) เตหะราน (อิหร่าน) Tiburg (เนเธอร์แลนด์) มอสโก (รัสเซีย) เคียฟ (ยูเครน)

นอกจากจะมีนครฉางซาเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าไปยุโรป เอเชียกลาง และตะวันออกกลางแล้ว ยังขยายเส้นทางไปยังเมืองอื่นของมณฑลหูหนานอีก 4 เมือง ได้แก่ (1) เมืองจูโจว เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าไปมินสก์ (เบลารุส) และเมืองดุยส์บูร์ก (เยอรมนี)  (2) เมืองหวยฮั่ว เปิดเส้นทางขนส่งสินค้า 4 เส้นทางไปยังมินสก์ (เบลารุส) มอสโก (รัสเซีย) เตหะราน (อิหร่าน) และทาชเคนต์ (อุซเบกิสถาน) (3) เมืองเหิงหยาง เปิดเส้นทางไปเมือง Biklyan (รัสเซีย) และ (4) เมืองเชินโจว เปิดเส้นทางไปเมือง Malaszewicze (โปแลนด์)

2.7 รถไฟไร้ราง

รถไฟไร้รางหรือการขับเคลื่อนอัตโนมัติระบบ Autonomous Rail Rapid Transit System (ART) ที่แรกของโลก วิจัยและผลิตโดยบริษัท CRRC Zhuzhou Institute จำกัด เปิดทดลองให้บริการเดินรถเมื่อเดือน พ.ค. 2561 ในตัวเมืองจูโจว (ห่างจากนครฉางซาประมาณ 75 กม.) รวม 4 สถานี ระยะทาง 3.1 กม. วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 70 กม./ชม. สามารถวิ่งบนถนนช่องเดินรถเดียวกับรถประจำทางได้ รถไฟไร้รางใช้เทคโนโลยีรางเสมือนในการควบคุม โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์นำทางเดินรถ (ประกอบด้วยกล้องที่มีความคมชัดสูง ระบบ GPS และเรดาร์) และข้อมูลการเดินรถจะถูกส่งเข้าไปที่ “สมอง” หรือ หน่วยควบคุมส่วนกลางระบบ ART ซึ่งการขับเคลื่อนจะวิ่งบนเลนถนนตามแนวเส้นประสีขาว 2 เส้นแทนที่รางจริง จึงทำให้ประหยัดต้นทุนการสร้างรางได้อย่างมาก

ในด้านต้นทุนการผลิต รถไฟไร้รางจะใช้เงินลงทุน 1 ใน 5 ของรถรางทันสมัย (Modern Tram) โดยมีค่าใช้จ่ายในการผลิตและติดตั้งน้อยกว่า 1,000 ล้านหยวน เมื่อเทียบที่ระยะทาง 10 กิโลเมตร และหากเปรียบเทียบระหว่างรถไฟไร้รางกับรถเมล์แล้ว รถไฟไร้รางมีข้อดีคือ (1) รักษาสิ่งแวดล้อม (2) มีอายุการใช้งานถึง 30 ปี และ (3) สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน รถไฟไร้รางได้ทดลองเดินรถในหลายเมืองของจีน เช่น อำเภอหย่งซิ่ว (มณฑลเจียงซี) เมืองอี๋ปิน (มณฑลเสฉวน) เมืองเซี่ยเหมิน (มณฑลฝูเจี้ยน) และนครฮาร์บิน (มณฑลเฮยหลงเจียง)

เส้นทางทางน้ำ

การคมนาคมทางน้ำภายในมณฑลหูหนานมีเส้นทางยาวกว่า 10,000 กิโลเมตร และมณฑลหูหนานสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมทางน้ำระหว่างแม่น้ำแยงซีตอนเหนือและตอนใต้ มีท่าเรือเฉิงหลิงจีซึ่งเป็นเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งเดียวของหูหนานที่ขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ เป็น 1 ใน 8 ท่าเรือใหญ่แห่งสายน้ำแยงซี ซึ่งผ่านไปยังยังฉงชิ่ง อู่ฮั่น เซี่ยงไฮ้ หนานจิง เหลียนหยุนกั่ง และเมืองอื่น ๆ

เส้นทางทางอากาศ

ปัจจุบัน หูหนานมีสนามบินที่เปิดใช้งาน 8 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติหวงฮัวฉางซา (长沙黄花国际机场) สนามบินนานาชาติจางเจียเจี้ย (张家界荷花机场) สนามบินฉางเต๋อ (常德桃花源机场) สนามบินหวยฮั่ว (怀化芷江机场) สนามบินหย่งโจว (永州零陵机场) สนามบินเหิงหยาง (衡阳南岳机场) สนามบินเซ่าหยาง (邵阳武冈机场) สนามบินเย่วหยาง (岳阳三荷机场) อยู่ระหว่างการก่อสร้างและดำเนินงานขั้นต้นอีก 4 แห่ง ได้แก่ เมืองโหลวตี่ เมืองเฉินโจว เมืองอี้หยาง และเขตฯ เซียงซี โดยในปี 2563 สนามบินในมณฑลหูหนานมีผู้โดยสารรวม 23.56 ล้านคน มากเป็นอันดับ 14 ของจีน

ท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัว (Changsha Huanghua International Airport长沙黄花国际机场) ตั้งอยู่ที่นครฉางซา มีเที่ยวบินเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศในช่วงปกติก่อนมีโควิด-19 มากกว่า 145 เที่ยวบิน โดยเฟสแรกมีพื้นที่อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ 34,000 ตร.ม. และอาคารผู้โดยสารต่างประเทศ 13,200 ตร.ม. รองรับผู้โดยสาร 6.5 ล้านคน ส่วนอาคารผู้โดยสารหมายเลข 2 สร้างเสร็จในปี 2554 มีพื้นที่ 213,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้ 22 ล้านคน และสร้างรันเวย์เพิ่มอีก 1 เส้น ปัจจุบัน อยู่ระหว่างเตรียมขยายอาคารผู้โดยสารหมายเลข 3 ซึ่งจะมีพื้นที่ประมาณ 500,000 ตร.ม. ใหญ่กว่าอาคารผู้โดยสารหมายเลข 2 เกือบ 2.5 เท่า และเพิ่มรันเวย์เส้นที่ 3 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีถึง 60 ล้านคน ภายในปี 2573

ในปี 2563 ท่าอากาศยานหวงฮัวมีผู้โดยสาร 19.22 ล้านคน (อันดับ 13 ของจีน) ลดลงร้อยละ 28.66 รองรับปริมาณพัสดุและไปรษณีย์ 192,018 ตัน (อันดับ 16 ของจีน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 และมีปริมาณเครื่องบินขึ้น-ลง 155,352 ลำ/ครั้ง (อันดับ 14 ของจีน) ลดลงร้อยละ 20.8

ทั้งนี้ ช่วงปลายปี 2562 สำนักงานการบินพลเรือนจีนได้อนุมัติแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัว ระยะสั้น 10 ปี และระยะยาว 30 ปี เพื่อให้ท่าอากาศยานหวงฮัวกลายเป็น “ฮับ” (hub) ระดับภูมิภาคที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมหลากหลายรูปแบบทั้งรถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟแม็กเลฟ และรถไฟระหว่างเมือง บนหลักการ “ปลอดภัย สีเขียว อัจฉริยะ และให้ความสำคัญกับประชาชน” (safe, green, intelligent, and people-orientated) โดยตั้งเป้าหมายให้ภายในปี 2573 ท่าอากาศยานหวงฮัวสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคน การขนส่งสินค้า 600,000 ตัน และเที่ยวบินจำนวน 456,000 เที่ยว และภายในปี 2593 สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านคน การขนส่งสินค้า 15 ล้านตัน เที่ยวบิน 615,000 เที่ยว รันเวย์ 4 เส้น หลุมจอดอากาศยาน 431 หลุมจอด และอาคารผู้โดยสารจำนวน 4 อาคาร

เส้นทางการบินระหว่างมณฑลหูหนานกับประเทศไทย (ในช่วงปกติก่อนมีโควิด-19)

  • กรุงเทพฯ-ฉางซา 3 ชั่วโมงครึ่ง (Thai Smile, Air Asia, Thai Lion Air)
  • เชียงใหม่-ฉางซา 3 ชั่วโมง (Air Asia)
  • ภูเก็ต-ฉางซา 4 ชั่วโมง (Thai Lion Air)
  • กรุงเทพฯ-จางเจียเจี้ย 3 ชั่วโมงครึ่ง (China Southern Airlines)

เศรษฐกิจ

1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลหูหนาน

เป้าหมายการดำเนินงานของมณฑลหูหนานในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ได้แก่

(1) ส่งเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “3 พื้นที่สำคัญและ 4 ภารกิจใหม่” (Three Highlands and Four New Missions) ประกอบด้วย การพัฒนาให้มณฑลเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำที่สำคัญของจีน พื้นที่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความสามารถทางการแข่งขัน และพื้นที่ตอนในของจีนที่ปฏิรูปและเปิดกว้างสู่ภายนอก พร้อมกับการแสวงหาวิธีการใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง แสดงผลสำเร็จของการพัฒนารูปแบบใหม่ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่จีนภาคกลางและแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt) และยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีนในยุคใหม่

(2) ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ โดยปฏิรูปโครงสร้างอุปทานในเชิงลึกและกระตุ้นตลาดภายใน

(3) ส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

(4) ปฏิรูปภาคการเกษตรและพลิกฟื้นชนบท

(5) ส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวและระบบนิเวศแบบอารยะ

(6) ดำเนินการพัฒนาโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

2. ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ

  • มณฑลหูหนานเป็นบ้านเกิดของผู้นำคนสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้แก่ อดีตประธานเหมา เจ๋อตง (อำเภอระดับเมืองเสาซานของเมืองเซียงถาน) และอดีตประธานาธิบดีหลิว เส้าฉี (อำเภอระดับเมืองหนิงเซียงของนครฉางซา)
  • มณฑลหูหนานได้รับฉายาว่า “แหล่งผลิตข้าวและปลาน้ำจืดที่สำคัญของจีน” มีทะเลสาบต้งถิงเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน แหล่งเพาะปลูกพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ทำลายสถิติผลผลิตต่อหมู่ (พื้นที่ประมาณ 0.5 ไร่) สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ อาหารหูหนานยังจัดเป็นหนึ่งใน 8 ตระกูลอาหารเลิศรสของจีน
  • มณฑลหูหนานเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเกษตรอันดับต้นของจีนหลายชนิด ได้แก่ ชา พริก ส้ม ข้าว ป่านรามี เม็ดบัว โดยเฉพาะชาน้ำมันที่มณฑลมีผลผลิตสูงที่สุดในจีน
  • แหล่งผลิตสุกรมีชีวิตอันดับ 3 ของจีน รองจากมณฑลเสฉวนและมณฑลเหอหนาน และยังเป็นแหล่งส่งออกสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรอันดับต้น ๆ ของจีน
  • มณฑลหูหนานจัดเป็นมณฑลที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ในแถวหน้าของจีน มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในด้านอุตสาหกรรมและการเกษตรที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยอุตสาหกรรมของมณฑลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท Sany และบริษัท Zoomlion ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำในการผลิตเครื่องจักรกลหนัก นอกจากนี้ มณฑลยังจัดตั้งเขตพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมกว่า 144 แห่งเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและการผลิตในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระดับชาติ (8 แห่ง) เขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติ (8 แห่ง) เขตปลอดอากรระดับชาติ (5 แห่ง) เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระดับมณฑล (30 แห่ง) เขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับมณฑล (46 แห่ง) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมระดับมณฑล (47 แห่ง)
  • แหล่งอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicles: ICV) ที่สำคัญของจีน โดยมีนครฉางซาเป็น “พื้นที่ทดสอบรถยนต์อัจฉริยะแห่งชาตินครฉางซา” (National Intelligent Connected Vehicle (Changsha) Testing Zone) และ “เขตนำร่องอินเทอร์เน็ตของรถยนต์” (Internet of Vehicles: IoV) ระดับประเทศแห่งที่ 3 ของจีน ต่อจากเมืองอู๋ซี (มณฑลเจียงซู) และเขตซีชิง (นครเทียนจิน)
  • แหล่งอุตสากรรมผลิตรถไฟและอุปกรณ์รถไฟที่สำคัญของจีน โดยมีเมืองจูโจวเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบรางที่สำคัญ และยังเป็น “ศูนย์นวัตกรรมอุปกรณ์การขนส่งระบบรางขั้นสูงระดับชาติ” (National Advanced Rail Transit Equipment Innovation Center) โดยเป็นศูนย์นวัตกรรมด้านการผลิตระดับชาติแห่งแรกของมณฑลหูหนาน และลำดับที่ 10 ของประเทศ ปัจจุบันเมืองจูโจวมีบริษัทด้านระบบรางกว่า 300 ราย และสามารถสร้างรายได้ในระดับมากกว่าแสนล้านหยวนมาตั้งแต่ปี 2558
  • มีนิคมอุตสาหกรรมสื่อวิดีทัศน์วัฒนธรรมและความสร้างสรรค์หม่าหลานซาน (Malanshan Video Cultural and Creative Industrial Park) เป็นแหล่งนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญของจีน มีเป้าหมายพัฒนาเป็น “China V Valley” ที่ประกอบด้วย Visual Vision และ Video เน้นการดำเนินงานด้านวิดีทัศน์ดิจิทัล การซื้อขายลิขสิทธิ์ การวิจัยและพัฒนาซอฟแวร์ ปัจจุบันมีบริษัทเข้าไปลงทุนในนิคมแห่งนี้แล้วกว่า 3,000 ราย เช่น สถานีวิทยุและโทรทัศน์หูหนาน (Hunan Radio and Television) ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ด้านบันเทิงอันดับหนึ่งของจีน และรวมถึงแพลตฟอร์มวิดีทัศน์ออนไลน์จีนที่มีชื่อเสียง เช่น iQIYI, ixigua, sina และ Yinhekuyu Media
  • เป็น “เขตการค้าเสรีนำร่อง” 1 ใน 21 แห่งของจีน มีพื้นที่รวม 119.76 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ย่อย 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ฉางซา พื้นที่เยว่หยาง และพื้นที่เชินโจว ตั้งเป้าหมายการพัฒนาให้เป็น (1) จุดศูนย์รวม (cluster) อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงระดับโลก (2) ระเบียงเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี และเขต GBA (3) พื้นที่นำร่องสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-แอฟริกา และ (4) ผู้นำในการเปิดกว้างพื้นที่ตอนในของจีนสู่ภายนอก
  • มณฑลหูหนานกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ชนิด ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย“Made in China 2025” ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชั้นนำ 1) การผลิตรถไฟและอุปกรณ์รถไฟ 2) เครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง 3) วัสดุใหม่ อุตสาหกรรมโดดเด่น 4) เทคโนโลยีสารสนเทศ 5) การบินและอวกาศ 6) ยานยนต์พลังงานใหม่ 7) อุปกรณ์พลังงาน 8) ยาชีวภาพและอุปกรณ์การแพทย์ชั้นสูง 9) อุปกรณ์เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ 10) หุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Numerical Control: CNC) 11) การต่อเรือและอุปกรณ์ทางทะเล 12) เครื่องจักรการเกษตร
    ทั้งนี้ มณฑลตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2563 อุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้นจะสร้างรายได้รวม 2.88 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากปี 2557 กว่าเท่าตัว
  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลหูหนาน ได้แก่ การพัฒนามณฑลให้เป็น “1 ศูนย์กลาง 3 เขต 4 เส้นทาง และหลากหลายจุด” กล่าวคือ
    1 ศูนย์กลาง ได้แก่ CZT Zone หรือ “เขตกลุ่มเมืองฉางจูถาน” ที่ประกอบด้วย นครฉางซา เมืองจูโจว และเมืองเซียงถาน ที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการทันสมัย เพื่อเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนกลาง
    3 เขต
     ได้แก่ 1) เมืองเยว่หยาง ที่จะสร้างระเบียงเศรษฐกิจเยว่หยาง-ฉางซา เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมท่าเรือ สร้างเขตพลังงานและปิโตรเคมี 2) เมืองเชินโจว ที่จะสร้างเขตทดลองความร่วมมือหูหนาน-กวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่สามารถขยายการเติบโตไปยังพื้นที่อื่นได้ และ 3) เมืองหวยฮั่ว ที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมกับเขตเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รวมถึงเป็นเขตที่มีความได้เปรียบทางระบบนิเวศ
    4 เส้นทางเศรษฐกิจ
     ได้แก่ 1) เส้นทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-ฉางซา-กว่างโจว ที่จะเน้นอุตสาหกรรมการผลิตทันสมัย อุตสาหกรรมเกิดใหม่ และธุรกิจบริการ 2) เส้นทางรอบทะเลสาบต้งถิง ที่จะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับท่าเรือ และพัฒนาความร่วมมือกับเมืองและมณฑลตอนกลางของแม่น้ำแยงซี 3) เส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-ฉางซา-เซี่ยงไฮ้ เน้นส่งเสริมอุตสากหรรม อาทิ วัสดุเหล็ก การแปรรูปอาหาร เทรดดิ้งและโลจิสติกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ 4) เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและนิเวศวิทยาจางเจียเจี้ย-เซียงซี-หวยฮั่ว ที่จะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์เกษตร และป่าไม้
    หลากหลายจุด
    ” ได้แก่ การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เขตพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง เขตปลอดอากรและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมากในมณฑล
  • มณฑลหูหนานกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในมณฑลเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) กลุ่มเมืองฉางซา-จูโจว-เซียงถาน (Changzhutan City Groups: CZT Zone) 2) ภาคตะวันตกของมณฑล 3) ภาคใต้ของมณฑล และ 4) บริเวณทะเลสาบต้งถิง

พื้นที่

ที่ตั้ง

ขนาดพื้นที่

ครอบคลุมเมือง

อุตสาหกรรมสำคัญ

(ตร.กม.)

จำนวน

ชื่อเมือง

กลุ่มเมืองฉางซา-จูโจว-เซียงถาน
CZT Zone
(Changzhutan
city groups)

ตะวันออกของมณฑลหูหนาน

28,000

3 เมือง

23 อำเภอ

ฉางซา จูโจว เซียงถาน

intelligent manufacturing อุปกรณ์ทันสมัย เทคโนโลยีสารสนเทศ วัสดุใหม่ ยาชีวภาพ (biomedicine) อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
โลจิสติกส์ การเงิน วัฒนธรรม
ต้าเซียงซี

ตะวันตกของมณฑลหูหนาน

81,500

5 เมือง

41 อำเภอ

หวยฮั่ว เซียงซี
เซ่าหยาง จางเจียเจี้ย โหลวตี่

การแปรรูปเกษตรเชิงลึก ยาจีน โลจิสติกส์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและนิเวศวิทยา สุขภาพผู้สูงอายุ เทรดดิ้ง
เซียงหนาน

ใต้
ของมณฑลหูหนาน

56,900

3 เมือง

34 อำเภอ

เฉินโจว เหิงหยาง
หย่งโจว

การแปรรูปโลหะเชิงลึก ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เบ้าหล่อ การผลิตของอุตสาหกรรมเบา
การท่องเที่ยวตามเส้นทางปฏิวัติของจีน
ทะเลสาบต้งถิง

เหนือ

ของมณฑลหูหนาน

46,800

3 เมือง

25 อำเภอ

เย่วหยาง ฉางเต๋อ
อี้หยาง

สิ่งทอจากฝ้ายหรือป่าน การแปรรูปอาหาร พลังงานและปิโตรเคมี โลจิสติกส์ทางน้ำ
การต่อเรือ

3. ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจ ปี 2563

3.1 สถิติเศรษฐกิจ

  • ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของมณฑลหูหนานมีมูลค่า 4,178,149 ล้านหยวน สูงเป็นอันดับที่ 9 ของจีน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 8 สูงเป็นอันดับที่ 9 ของจีน อัตรา GDP ต่อหัวคิดเป็น 60,391 หยวน สูงเป็นอันดับ 14 ของจีน ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ครองสัดส่วนมูลค่า GDP ที่ร้อยละ 10.2 ร้อยละ 38.1 และร้อยละ 51.7 ตามลำดับ
  • 3.2 การลงทุน

    • มณฑลหูหนานดึงดูดเงินลงทุนจากต่างมณฑลรวม 873,733 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.7 ภาคบริการร้อยละ 45.5 และภาคเกษตรร้อยละ 7.8
    • มณฑลหูหนานดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศรวม 20,998 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.7 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 4 และภาคเกษตรร้อยละ 4.9
    • มณฑลหูหนานออกไปลงทุนในต่างประเทศรวม 1,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7 มูลค่าสูงเป็นอันดับ 10 ของจีน และอันดับ 1 ในภาคกลางของจีน
    3.3 การท่องเที่ยว
    • มณฑลหูหนานมีแหล่งท่องเที่ยวระดับสูงสุดของประเทศจีน หรือ ระดับ AAAAA (5A) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่
      • อุทยานแห่งชาติอู่หลิงหยวนจางเจียเจี้ย และถ้ำประตูสวรรค์เทียนเหมินซาน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางธรรมชาติ (เมืองจางเจียเจี้ย)
      • ภูเขาเหิงซาน (เมืองเหิงหยาง)
      • เขตท่องเที่ยวเสาซาน (เมืองเซียงถาน)
      • ตึกเยว่หยางและเกาะจวินซาน (เมืองเยว่หยาง)
      • เขตท่องเที่ยวเยว่ลู่ซานและเกาะส้ม (นครฉางซา)
      • หมู่บ้านฮวาหมิงโหลว (นครฉางซา)
      • อุทยานแห่งชาติทะเลสาบตงเจียง (เมืองเชินโจว)
      • มรดกโลกทางธรรมชาติภูเขาล่างซาน (เมืองเส้าหยาง)
      • สุสานเทพกสิกรเอี๋ยนตี้ (เมืองจูโจว)
      • อุทยานสวนดอกท้อ (เมืองฉางเต๋อ)
    • ในปี 2563 มณฑลหูหนานต้อนรับนักท่องเที่ยวรวม 690 ล้านคน/ครั้ง ลดลงร้อยละ 16.2 โดยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 170,000 คน/ครั้ง ลดลงร้อยละ 96.4
    • รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมณฑลหูหนานในปี 2563 มีมูลค่า 826,200 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 15.4 ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 825,840 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 14.1 และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 51.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 97.7

    3.4 การค้าการลงทุนไทย-หูหนาน

    3.4.1 ด้านการค้า

    3.4.2 ด้านการลงทุน

    • การลงทุนที่สำคัญของไทยในหูหนาน ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านการเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหารสัตว์) และโรงงานกระดาษของบริษัท Yueyang Fengli Pulp & Paper Industry
    • การลงทุนที่สำคัญของมณฑลหูหนานในประเทศไทย ได้แก่ การจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมหูหนานที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมพาณิชย์มณฑลหูหนานให้เป็นเขตอุตสาหกรรมนอกประเทศแห่งแรกของมณฑลหูหนาน โดยเปิดเมื่อปี 2553 มีนักลงทุนจากหูหนาน ไทย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เข้าไปลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาเคมีภัณฑ์และอะไหล่รถยนต์ นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจชาวหูหนานเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง จังหวัดปทุมธานี และนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย จังหวัดระยอง โดยลงทุนในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง

    3.4.3 ด้านการท่องเที่ยว

    • ในปี 2563 มีชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวในมณฑลหูหนานรวม 2,156 คน/ครั้ง ลดลงร้อยละ 96.5
      ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน