HEILONGJIANG

มณฑลเฮยหลงเจียง

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งและพื้นที่

มณฑลเฮยหลงเจียง เป็น 1 ใน 3 มณฑลที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศจีน

  • ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดประเทศรัสเซีย (แนวพรมแดนยาว 3,045 กิโลเมตร) เป็นประตูสู่ “ยูเรเซีย”
  • ทิศตะวันตกติดเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
  • ทิศใต้อยู่ติดมณฑลจี๋หลิน

มณฑลเฮยหลงเจียงมีพื้นที่ 469,000 ตร.กม. (ประมาณ 91.4% ของประเทศไทย) ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศจีน (คิดเป็นสัดส่วน 4.7% ของทั้งประเทศ) ทิศตะวันออกจรดตะวันตกมีระยะทาง 930 กิโลเมตร และทิศเหนือจรดทิศใต้มีระยะทาง 1,120 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ภูเขาและเนินเขาร้อยละ 70 และพื้นที่ราบลุ่มร้อยละ 30 ของพื้นที่มณฑล

ข้อมูลประชากร

ปี 2557 ประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียงมีจำนวน 38,130,000 คน อันดับที่ 15 ของประเทศ (คิดเป็นสัดส่วน 2.86% ของทั้งประเทศ) แบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 50.5 (19,362,000 คน) และเพศหญิงร้อยละ 49.5 (18,768,000 คน) โดยนครฮาร์บินเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของมณฑล

สภาพภูมิอากาศ

เฮยหลงเจียงได้รับลมมรสุมภาคพื้นทวีประหว่างเขตหนาวและเขตอบอุ่น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี – 5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดคือ -52.3 องศาเซลเซียส พื้นที่ทางทิศเหนือและทิศใต้มีอุณหภูมิต่างกันโดยเฉลี่ย 8 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนฝนตกประปราย ฤดูใบไม้ผลิมีลมพัดแรง ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 400 – 700 มม.ต่อปี

ทรัพยากรสำคัญ

มณฑลเฮยหลงเจียงได้รับการขนานนามเป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบ และแหล่งผลิตธัญพืชที่สำคัญอันดับ 1 ของประเทศจีน มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์กว่า 131 ชนิด และสำรวจเพื่อขุดใช้แล้ว 75 ชนิด เช่น น้ำมันปิโตรเลียม คาร์บอน ซิลิคอน ฯลฯ มีถ่านหินสะสมมากที่สุดในมณฑลทางเหนือของประเทศจีน มีทรัพยากรป่าไม้มากที่สุดในจีน (พื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 31,750,000 เฮกตาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.6) มีพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์อันดับ 7 และมีพื้นที่เพาะปลูกที่ยังไม่ได้รับการบุกเบิกอันดับ 2 ของประเทศ

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

“เฮยหลงเจียง” เป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์กาล  แต่ละยุคแต่ละสมัยมีการแบ่งพื้นที่ปกครองแตกต่างกัน จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) มีการแต่งตั้งแม่ทัพเฮยหลงและแม่ทัพจี๋หลิน เพื่อกำกับดูแลพื้นที่มณฑลเฮยหลงเจียง เมื่อเข้าสู่สมัยจีนยุคใหม่ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ได้จัดตั้งเป็น “มณฑลเฮยหลงเจียง” และ “มณฑลซงเจียง” จนถึงปี ค.ศ.1954 (2497) จึงได้ทำการควบรวมสองมณฑลดังกล่าว ตั้งเป็น “มณฑลเฮยหลงเจียง” และมีการย้ายเมืองเอกถึง 4 ครั้ง ก่อนจะเป็น “นครฮาร์เอ่อร์ปิน” หรือที่ชาวไทยรู้จักในชื่อ “นครฮาร์บิน” ในปัจจุบัน

“เฮยหลงเจียง” เป็นมณฑลที่มีความหลากหลายทางชนชาติ และวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นจากสิ่งปลูกสร้างที่มีการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกได้อย่างลงตัว

ปัจจุบัน มณฑลดังกล่าวมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็น 1 ใน 4 สถานที่จัดงานเทศกาลหิมะและน้ำแข็งระดับโลก (ญี่ปุ่น แคนาดา และนอร์เวย์) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 5 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ของทุกปี ณ นครฮาร์บิน ภายใต้ชื่อ “Harbin International Ice and Snow Festival”

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

(ภาพแผนมณฑลที่มีแบ่งแยกแต่ละเขต)

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

มณฑลเฮยหลงเจียงเป็นหนึ่งใน 24 มณฑลของจีน มีผู้ว่าการมณฑลเป็นผู้บริหารสูงสุด และมีเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลเป็นผู้บริหารสูงสุด

มณฑลเฮยหลงเจียงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 14 เมือง ได้แก่

  1. นครฮาร์บิน (Harbin, 哈尔滨市)
    เป็นเมืองเอกของมณฑล เป็นเมืองที่มีพื้นที่บริหารจัดการกว้างที่สุดของประเทศจีน (5.3 หมื่น ตร.กม.) เป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ ได้รับการขนานนามเป็น “มอสโกแดนตะวันออก” “เมืองแห่งน้ำแข็ง” และ “ลิตเติ้ล ปารีสแดนตะวันออก”
  2. เมืองฉีฉีฮาร์เอ่อ (Qiqihar, 齐齐哈尔市)
    เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 และศูนย์กลางความเจริญของเมืองทางภาคตะวันตกของมณฑล และเป็นฐานอุตสาหกรรมหนักของประเทศ (ธุรกิจผลิตเครื่องจักร)
  3. เมืองหมู่ตานเจียง (Mu Dan Jiang, 牡丹江市)
    เป็นหนึ่งเมืองศูนย์กลางความเจริญของเมืองทางภาคตะวันออกของมณฑล เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางบกกับทางทะเลที่สำคัญของพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือกับยูเรเซีย
  4. เมืองเจียมู่ซือ (Jia Mu Si, 佳木斯市)
    เป็นเมืองแรกของประเทศจีนที่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนพื้นที่อื่นๆ เป็นเมืองการค้าชายแดนสำคัญของจีนกับประเทศรัสเซีย
    (มีด่านพรมแดนสากล 5 แห่ง)
  5. เมืองต้าชิ่ง (Da Qing, 大庆市)
    เป็นแหล่งน้ำมันดิบอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับ 10 ของโลก จึงมีอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมเสาหลัก
  6. เมืองจีซี (Ji Xi, 鸡西市)
    ได้รับการขนานนามเป็น “เมืองถ่านหิน” ของมณฑล นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเครื่องจักร พลังงานไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และเคมีภัณฑ์
  7. เมืองซวงยาซาน (Shuang Ya Shan, 双鸭山市)
    เป็นหนึ่งใน 10 เหมืองแร่ถ่านหินของประเทศ
  8. เมืองอีชุน (Yi Chun, 伊春市)
    เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าไม้สำคัญของประเทศ เป็นแหล่งผลิตโสม และเห็ดหูหนูดำ
  9. เมืองชีถายเหอ (Qi Tai He, 七台河市)
    เป็นหนึ่งใน 13 พื้นที่อนุรักษ์เหมืองแร่ถ่านหินของประเทศ
  10. เมืองเฮ่อก่าง (He Gang, 鹤岗市)
    เป็นแหล่งทรัพยากรแร่ถ่านหิน และฐานอุตสาหกรรมเก่าแก่ของพื้นที่ภาคอีสานจีน
  11. เมืองเฮยเหอ (Hei He, 黑河市)
    เมืองท่องเที่ยวและศูนย์กลางการค้าชายแดนของภาคอีสานจีน เป็นพื้นที่ผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก
  12. เมืองสุ่ยหว้า (Sui Hua, 绥化市)
    ได้รับการขนานนามเป็น “เมืองอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์แห่งพื้นที่จีนตอนเหนือ”
  13. เขตภูมิภาคต้าซิ่งอานหลิ่ง (Da Xing An Ling, 大兴安岭地区)
    พื้นที่ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศจีน เป็นพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน
  14. พื้นที่เกษตรเฮยหลงเจียง (黑龙江农垦)
    พื้นที่การเกษตรที่กระจายตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ ของมณฑล

ผู้บริหารมณฑล

นายหวัง เซี่ยน คุย (Wang Xian kui)

เลขาธิการพรรคฯ

นายลู่ ห้าว (Lu Hao)

ผู้ว่าการมณฑล

นายหวัง เซี่ยน คุย (Wang Xian kui)

ปธ.สภาผู้แทน ปชช.

นายตู้ อวี่ ซิน (Du Yu Xin)

ปธ.สภาที่ปรึกษาการเมือง

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาคมณฑลเฮยหลงเจียงได้ที่ http://www.hlj.gov.cn/

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมืองสำคัญ

1. นครฮาร์บิน

นครฮาร์บินเป็นเมืองหลวงของมณฑลเฮยหลงเจียง ได้รับขนานนามว่า “เมืองปารีสตะวันออก” หรือ “เมืองมอสโคตะวันออก” มีพื้นที่ทั้งหมด 53,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ในเขตเมือง 1,637 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรทั้งหมด 9.94 ล้านคน (2557) เป็นเมืองที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศจีน แบ่งออกเป็น 8 เขต 4 เมือง 5 อำเภอ

นครฮาร์บิน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ซึ่งห่างเพียง 3,045 กิโลเมตร จากชายแดนประเทศรัสเซีย และใกล้กับคาบสมุทรเกาหลี และประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจสำคัญของเอเชียตะวันออก โดยตลาดสินค้าในเขตนี้มีขนาดครอบคลุมตั้งแต่มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลจี๋หลิน เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ประเทศรัสเซีย และประเทศอื่น ๆ ในบริเวณโดยรอบ ซึ่งครอบคลุมถึงจำนวนประชากรประมาณ 70 ล้านคน และเมืองฮาร์บินยังเป็นประตูทางการค้าไปสู่ประเทศรัสเซีย

ท่าเรือฮาร์บินตั้งอยู่ ณ แม่น้ำซงฮัว เป็นท่าเรือ ริมฝั่งแม่น้ำ 1 ใน 8 ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน มีเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำจินเจียงที่เชื่อมต่อถึงประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นครฮาร์บินเป็นฐานอุตสาหกรรมเก่าที่สำคัญของประเทศตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปี ฉบับที่ 1 ซึ่งในสมัยนั้นจีนได้รับความช่วยเหลือจากประเทศโซเวียตในโครงการสำคัญ 156 โครงการ ซึ่ง 13 โครงการอยู่ในนครฮาร์บิน นครฮาร์บินเป็นเมืองสำคัญด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเบา สิ่งทอ ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์อาหาร รถยนต์ และยังมีอุตสาหกรรมการบิน ผลิตเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินขนาดเล็ก โดยมี Harbin Aviation Industry Group Co.,Ltd. ร่วมมือกับ Harbin Dong’an Engine Group Co.,Ltd. ผลิตอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมการบินที่ใหญ่ที่สุดในนครฮาร์บิน

นอกจากนั้น ฮาร์บินผลิตเบียร์เป็นแห่งแรกของประเทศจีน และเป็นแหล่งผลิตเบียร์ใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศจีน ตั้งในปี 2443 โดยมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี และประสบความสำเร็จจากการเข้าสู่ตลาดหุ้นฮ่องกง ปี 2547 Anheuser – Busch ซื้อบริษัทเบียร์ฮาร์บินด้วยเงินทั้งสิ้น 694 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว มีฤดูกาล 4 ฤดูที่ชัดเจน เป็นเมืองสำหรับการหลบความร้อนในฤดูร้อนของคนจีนจากเมืองอื่น ปี 2541 ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนให้เป็นเมืองยอดเยี่ยมแห่งการท่องเที่ยว โดยเทศกาลหิมะน้ำแข็งซึ่งจัดขึ้นทุกปีในมณฑลนั้นเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงมากในหมู่นักท่องเที่ยว

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

1. เขตพัฒนาเศรษฐกิจฮาร์บิน

โดยเขตนี้ประกอบด้วย 2 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่

  1. เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีฮาร์บิน (Harbin Economic and Technological Development Zone)
  2. เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ (Harbin High and New Technology Industrial Development Zone)

ทั้งสองเขตนี้จัดเป็นเขตเศรษฐกิจระดับชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นเขตศูนย์กลางนวตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ระดับชาติ เขตศูนย์กลางในการวางแผนเทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ระดับชาติ เพื่อเปิดการค้าและส่งเสริมการค้ากับประเทศรัสเซีย ภายในเขตแบ่งออกเป็น พื้นที่ศูนย์กลางของเขต พื้นที่เขตมหาวิทยาลัย พื้นที่เขตบริหารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐ

2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีลี่หมิน (Haerbin Limin Economic and Technological Development Zone)

เป็นเขตอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม เป็นเขตรวมสถาบันการศึกษา ซึ่งมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามากมาย ได้แก่ มหาวิทยาลัยครูฮาร์บิน มหาวิทยาลัยตำรวจเฮยหลงเจียง นอกจากนั้น ยังเป็นเขตพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีลี่หมิน ยังมีเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียาลี่หมิน โดยในปี 2548 มีบริษัทยากว่าสามสิบบริษัทลงทุนในเขตนี้ และมีการพัฒนาการวิจัยในอุตสาหกรรมยา การบำบัดโรค อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์

3.เขตพัฒนาเศรษฐกิจฮาร์บินอาเฉิง (Haerbin Acheng Economic Development Zone)

เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับเมือง ได้รับนโยบายสิทธิพิเศษในระดับเมือง เป็นเขตพัฒนาด้านอุปกรณ์ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก พัฒนาด้านอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางขนส่งทางบก

ในด้านทางหลวง มณฑลเฮยหลงเจียงมีเส้นทางหลวงหลัก 7 สาย ที่สำคัญเช่น

  • เส้นทางด่วนระหว่างเมืองฮาร์บิน – ปักกิ่ง มีระยะทาง 1,100 กิโลเมตร
  • เมืองฮาร์บิน – โล่วหยาง มีระยะทาง 550 กิโลเมตร
  • เมืองฮาร์บิน – ต้าเหลี่ยน มีระยะทาง 1,000 กิโลเมตร
  • เมืองฮาร์บิน – ฉางชุน มีระยะทาง 250 กิโลเมตร

นอกจากนี้ มณฑลเฮยหลงเจียงได้เปิดใช้เส้นทางหลวงขนส่งสินค้าระหว่างนครฮาร์บินของจีนและเมือง Vladivostok ของประเทศรัสเซีย ซึ่งเส้นทางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญ และยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเส้นทางแรกระหว่างประเทศจีนและรัสเซีย หลังจากที่ได้เปิดเส้นทางสำหรับการท่องเที่ยวระหว่างนครฮาร์บินของจีนและเมือง Vladivostok ของรัสเซียเมื่อเดือน มิ.ย. 2549 แล้ว

มณฑลเฮยหลงเจียง มีทางรถไฟเป็นเส้นทางสายหลัก โดยมีทั้งหมด 60 สาย เส้นทางสายหลักเริ่มจากเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ได้แก่

  • เมืองฮาร์บิน
  • เมืองฉีฉีฮาร์เอ๋อ
  • เมืองหมู่ตันเจียง
  • เมืองเจียมู่ซี โดยมีเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศรัสเซีย ประเทศเกาหลีเหนือ
  • เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
  • มณฑลเหลียวหนิง

โดยมีเส้นทางรถไฟสายบินสุยและบินโจวเชื่อมต่อกับเส้นทางประเทศรัสเซียและไซบีเรีย และเส้นทางมู่ตันและตูเหมินเชื่อมต่อกับเส้นทางประเทศเกาหลีเหนือ ส่วนเส้นทางจิงฮา ลาบิน ผิงจี๋ ทงร่าง และมู่ตัน ทั้ง 5 เส้นทางสามารถเชื่อมต่อกับมณฑลและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมณฑลเฮยหลงเจียงมีเส้นทางรถไฟระยะทางทั้งหมด 5,300 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ปัจจุบัน มณฑลเฮยหลงเจียงมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง – ฮาร์บิน ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่แล่นในเขตหนาวของจีน นอกจากนี้ ปัจจุบัน ยังมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงภายในมณฑลเฮยหลงเจียงกำลังก่อสร้างอยู่ อาทิ

  • เส้นทางเมืองหมู่ตันเจียง-เมืองสุยเฟินเหอ
  • เส้นทางอาร์บิน-ฉีฉีฮาร์เอ่อ
  • เส้นทางฮาร์บิน-เจียมู่ซี

เส้นทางขนส่งทางน้ำ

1.ท่าเรือฮาร์บิน

ท่าเรือฮาร์บินริมฝั่งแม่น้ำซงฮัวเป็นท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำ 1 ใน 8 ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน สามารถขนส่งสินค้าไปยังบางเมืองของประเทศรัสเซียได้โดยตรง นอกจากนั้น ยังมีเส้นทางการเดินเรือแม่น้ำจินเจียงเชื่อมต่อถึงประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เส้นทางขนส่งทางอากาศ

มณฑลเฮยหลงเจียงมีเส้นทางการบินทั้งหมด 58 เส้นทาง โดยมีสนามบินทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินฮาร์บิน สนามบินฉีฉีฮาร์เอ๋อ สนามบินมู่ตันเจียง สนามบินเจียมู่ซี สนามบินเหยเหอ และสนามบินฮาร์บิน (สนามบินนานาชาติฮาร์บินไท่ผิง) เป็น 1 ใน 8 ของสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นสนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศจีนทางภาคเหนือ โดยสนามบินฮาร์บินมีเที่ยวบินภายในประเทศไปยังกว่า 40 เมือง และเที่ยวบินระหว่างประเทศ ได้แก่ เส้นทางบินตรงถึงกรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล

1) แผนงาน/เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011 – 2015)

  • GDP เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 12 รายได้เฉลี่ยประชากรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี การค้าปลีกและบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี
  • ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ภาคเอกชนมีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 55 มูลค่าเพิ่มของภาคบริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40 ต่อปี อัตราความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60
  • ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตดั้งเดิม พัฒนาระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใหม่เชิงยุทธศาตร์ เช่น อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ ชีวภาพ การผลิตเครื่องจักรและพลังงานใหม่ รายได้ของภาคอุตสาหกรรมทะลุ 1.5 ล้านล้านหยวน
  • ขยายระดับการเปิดเศรษฐกิจสู่ภายนอก ผลักดันระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ขยายการค้าต่างประเทศให้เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14.4 ต่อปี ปริมาณสินค้าผ่านด่านชายแดน 25 ล้านตันเมื่อสิ้นสุดแผน
  • ก่อตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 10 สาขา พัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน บ่มเพาะผู้ประกอบการผลิตที่สะอาดให้ได้ 100 ราย
  • บุกเบิกเขตพัฒนาเศรษฐกิจการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ผลักดันการค้ากับรัสเซีย เกาหลีเหนือ-ใต้ และญี่ปุ่น โดยให้นครฮาร์บินเป็นศูนย์กลาง พัฒนาเขตสาธิตความร่วมมือวิทยาศาสตร์และธุรกิจการค้าประจำภูมิภาค
  • กระชับความร่วมมือกับรัสเซียและมองโกเลีย การค้ากับรัสเซียขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปี
  • พัฒนาเส้นทางรถไฟภายในมณฑลเพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟสาย Trans-Siberian

2) แผนงาน/เป้าหมายประจำปี ค.ศ. 2015

  • GDP เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวไม่เกินร้อยละ 3
  • รักษาระดับการจ้างงาน ตั้งเป้าให้เกิดการจ้างงานใหม่ 570,000 ตำแหน่ง และควบคุมอัตราการว่างงานให้อยู่ที่ร้อยละ 4.5
  • เพิ่มรายได้เฉลี่ยของประชาชนในเขตเมืองและชนบทไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9 และร้อยละ 10 ตามลำดับ
  • มูลค่าการค้าปลีกและบริโภคเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12.5 มูลค่าการส่งออกนำเข้าขยายตัวประมาณร้อยละ 2
  • รักษาให้เศรษฐกิจพัฒนาอย่างมีสเถียรภาพรวมทั้งค้นหาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
  • เร่งรัดก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย
  • ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตของภาคเกษตรกรรมเพื่อให้มีประสิทธิผลมากขึ้น
  • ให้ความสำคัญในการก่อสร้างระบบพื้นฐาน

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • เป็นหนึ่งในพื้นที่ภายใต้แผนฟื้นฟูและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฉบับที่ 12 และอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาและฟื้นฟูภาคอีสานของจีน
  • มีพื้นที่ติดกับรัสเซียกว่า 3,000 กม. มีด่านการค้าชายแดนกว่า 25 ด่าน มูลค่าการค้าชายแดนกับรัสเซียสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน
  • มีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะถ่านหิน แกรไฟต์ (Graphite) Basalt และ Silimanite มีบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในจีน (บ่อน้ำมันต้าชิ่ง) โดยมีปริมาณน้ำมันดิบสะสมกว่า 50 ล้านตัน และผลิตน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ
  • เป็นมณฑลเกษตรกรรมที่สำคัญ เนื่องจากมีดินดำที่มีแร่ธาตุเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวเจ้า
  • เป็นแหล่งรวมทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของจีน
    มีแรงงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกว่า 1.55 ล้านคน

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

รัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลเฮยหลงเจียงมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เพื่อฟิ้นฟูเศรษฐกิจให้เจริญมั่งคั่ง โดยสาขาการลงทุนที่น่าสนใจในเฮยหลงเจียง ได้แก่

  • อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่น เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร การขนส่ง
  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น การผลิตอนุพันธ์ปิโตรเลียม ถ่านโค้ก โพลีเอธิลีน โพลีโพรพีลีน
  • อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ เช่น พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้ภพิภพ และพลังงานชีวมวล
  • อุตสาหกรรมผลิตวัสดุใหม่ เช่น วัสดุไฟเบอร์กลาส แผง Photovoltaic แผ่นฟิล์ม Crystalline Silicon
  • อุตสาหกรรมอาหาร เช่น การแปรรูปอาหารจากธัญพืช การถนอมอาหารสำหรับใช้บริโภคในฤดูหนาว
  • อุตสาหกรรมป่าไม้ เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ พืชและยาสมุนไพร

ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจ

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน