BEIJING

กรุงปักกิ่ง

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

กรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจีน เป็นศูนย์กลางทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ การคมนาคม และวัฒนธรรมของประเทศ

มีที่ตั้งอยู่ ณ จุดตัด 116 24’ ลองติจูดตะวันออก และ 39 54’ ละติจูดเหนือ ทิศตะวันออกติดกับเมืองเทียนจิน และทิศอื่น ๆ
ติดกับมณฑลเหอเป่ย

โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 16,410.54 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่เป็นที่ราบมีเนื้อที่ 6,338 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 38.6 ของพื้นที่ทั้งปักกิ่ง และพื้นที่ที่เป็นภูเขามีเนื้อที่ 10,072 ตารางกิโลเมตร
คิดเป็นร้อยละ 61.4 ของพื้นที่ทั้งปักกิ่ง ลักษณะภูมิประเทศของปักกิ่ง ทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแนวภูเขา ทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ราบลาดตัวลงสู่ทะเลป๋อไห่

พื้นที่ราบในปักกิ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 20 – 60 เมตร ส่วนพื้นที่ที่เป็นภูเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 – 1,500 เมตร โดยยอดเขาที่สูงที่สุดคือยอดเขาตงหลิงติดกับมณฑลเหอเป่ย
มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,303 เมตร

แม่น้ำสายหลักของกรุงปักกิ่ง ได้แก่ แม่น้ำเฉาไป๋ แม่น้ำเป่ยอวิ๋น ซึ่งอยู่ด้านตะวันออก และแม่น้ำหย่งติ้ง แม่น้ำจวี้หม่าซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตก

ข้อมูลประชากร

ประชากรในกรุงปักกิ่งประกอบด้วยชนชาติทั้งหมด 56 ชนชาติ โดยมีชนชาติฮั่นเป็นประชากรส่วนใหญ่ นอกจากนั้นมีชนชาติหุย แมนจู มองโกเลีย และชนชาติอื่นๆ ในปี 2559 ประชากรของกรุงปักกิ่งมีจำนวน 21.73 ล้านคน มีอัตราการเกิด 9.32‰ และอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 5.2‰ ความหนาแน่นของประชากร 1,324 คนต่อตารางกิโลเมตร

สภาพภูมิอากาศ

กรุงปักกิ่งอยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่น ฤดูกาลแบ่งเป็น 4 ฤดู ฤดูใบไม้ผลิ และใบไม้ร่วงมีระยะเวลาสั้นมาก ฤดูร้อนอากาศร้อนจัด และมีฝนมาก ขณะที่ฤดูหนาวอากาศแห้งและหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 10 – 12 องศาเซลเซียส เดือนมกราคมอุณหภูมิเฉลี่ย -7 ถึง -4 องศาเซลเซียส
เดือนกรกฎาคมอุณหภูมิเฉลี่ย 25 – 26 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 600 มิลลิเมตร โดยปริมาณน้ำฝนในฤดูร้อนคิดเป็นร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำฝนทั้งปี และในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก

ทรัพยากรสำคัญ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของปักกิ่งเป็นภูเขา ความไม่เหมาะสมของคุณภาพดินและคุณภาพน้ำ ทำให้การใช้ประโยชน์ของพื้นที่มีจำกัด โดยปักกิ่งมีทรัพยากรแร่ธาตุกว่า 67 ชนิดประกอบด้วยแร่เหล็ก หินปูน และแร่อื่นๆ โดยแร่หินปูน ใช้สำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ทราย ใช้สำหรับการทำอิฐและกระเบื้อง เหมืองแร่ซิลิคอนใช้สำหรับการทำปูนซีเมนต์ หิน Diorite ใช้สำหรับการทำเฟอร์นิเจอร์

– แหล่งพลังงาน
กรุงปักกิ่งได้สร้างสถานีพลังงานทดแทนสามแห่งในปี 2553 ในเขตเหมินโถวโกว ซุ่นอี้ และทงโจว โดยมีความสามารถในการผลิตพลังงานถึง 7.2 ล้านกิโลวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 40 ของความต้องการพลังงานของปักกิ่ง นอกจากนี้ ปักกิ่งยังได้ดำเนินโครงการพลังงานก๊าซธรรมชาติเฉาหุยเตี้ยน และจัดหาพลังงานก๊าซธรรมชาติ 8 ล้านคิวบิกเมตรต่อปี ในปี 2560 กรุงปักกิ่งวางแผนจะลดการใช้ถ่านหินลดลงร้อยละ 30 โดยมีปริมาณการการใช้ถ่านหินไม่เกิน 7 ล้านตัน

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

กรุงปักกิ่ง มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี เป็นเมืองหลวงโบราณของจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์เหลียว จิน หยวน หมิง และชิง รวม 5 ราชวงศ์ และเมื่อสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 (ค.ศ. 1949) รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสม์จีนก็ได้เลือกปักกิ่งให้เป็นเมืองหลวงของประเทศ

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พื้นที่กรุงปักกิ่งในปัจจุบัน เมื่อ 110 ปีก่อนคริสตกาลเป็นที่ตั้งของอาณาจักรจี้กั๋ว ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซีโจว ต่อมาเมื่อถึงสมัยกลางของยุคชุนชิว (770 – 476 ปีก่อนคริสตกาล) อาณาจักรเอียนกั๋วได้รวมอาณาจักรจี้กั๋วเข้าไว้ด้วยกัน

หลังจากนั้นอาณาจักรฉินกั๋ว (จิ๋นซีฮ่องเต้) ก็ได้ตีเอาจี้กั๋วมาเป็นของตนเมื่อ 226 ปีก่อนคริสตกาล ถึงปี 2024 (ค.ศ. 1481) อาณาจักรจี้กั๋วกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงของแคว้นเหลียวซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยชนชาติชี่ตัน และตั้งชื่อใหม่ว่า เอียนจิง

ในเวลาต่อมาได้มีการสถาปนาราชวงศ์จิน และได้ย้ายเมืองหลวง มาอยู่ที่เอียนจิงในปี 2239 (ค.ศ.1696) โดยเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น จงตู ต่อมาราชวงศ์จินถูกรุกรานโดยชาวมองโกล จึงได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เปี้ยนจิง (เมืองไคฟง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน)

หลังจากนั้น ราชวงศ์หยวนก็ได้สถาปนาขึ้นภายใต้การปกครองของชาวมองโกล และตั้งให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงในปี 2353 (ค.ศ.1810) จากนั้นปักกิ่งก็ถูกตั้งให้เป็นเมืองหลวงเรื่อยมาในสมัยราชวงศ์หมิง และชิง จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2492 เมื่อจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ ก็ได้กำหนดให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจนถึงปัจจุบัน

โบราณสถานในปักกิ่งที่ตกทอดสืบต่อมาและมีปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้มีมากมาย เช่น พระราชวังต้องห้าม กำแพงเมืองจีน หอบูชาฟ้า พระราชวังฤดูร้อน สุสานสิบสามกษัตริย์ เป็นต้น สถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นมรดกทางประศาสตร์อันสำคัญทั้งของจีน และของโลก

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

กรุงปักกิ่งปกครองโดยรัฐบาลประจำเมือง ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง และมีนายกเทศมนตรี เป็นผู้บริหารสูงสุด กรุงปักกิ่ง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 เขต โดยแบ่งเป็นเขตเมืองชั้นใน 2 เขต เขตพื้นที่ในเมือง 4 เขต เขตพื้นที่นอกเมืองสำหรับการพัฒนา 5 เขต และเขตพื้นที่นอกเมืองสำหรับการอนุรักษ์ระบบนิเวศ 5 เขต

(ภาพแผนที่มณฑลที่มีการแบ่งเขตการปกครอง)

– ศูนย์กลางกรุงปักกิ่ง 
ได้แก่ พื้นที่เมืองเดิมที่ตั้งอยู่ภายในวงแหวนรอบที่ 2 แบ่งเป็นเขตเมืองตะวันออก (เขต Dongcheng รวมเขต Chongwen ) และเขตเมืองตะวันตก (เขต Xicheng รวมเขต Xuanwu) พื้นที่ส่วนนี้ถือเป็นเขตเมืองเก่า มีบทบาทสำคัญด้านการเมือง วัฒนธรรม และการต่างประเทศ

– เขตรองรับการขยายพื้นที่จากศูนย์กลาง 
ได้แก่ พื้นที่ที่อยู่ถัดจากวงแหวนรอบที่ 2 ออกไปถึงวงแหวนรอบที่ 5 (เขตเฉาหยาง เขตไห่เตี้ยน เขตเฟิงไถ และเขตสือจิ่งซัน)
พื้นที่ส่วนนี้ทำหน้าที่ รองรับการขยายตัวจาก เขตศูนย์กลางของกรุงปักกิ่ง เพื่อให้เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ผลักดันการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง

– เขตพื้นที่นอกเมืองสำหรับการพัฒนา 5 เขต
ได้แก่ เขตทงโจว เขตซุ่นอี้ เขตต้าซิง เขตชังผิง และเขตฝังซัน พื้นที่ส่วนนี้อาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและการเกษตรสมัยใหม่ รวมทั้งอาศัยเขตพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ เป็นตัวเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรม

– เขตพื้นที่นอกเมืองสำหรับการอนุรักษ์ระบบนิเวศ 5 เขต
ได้แก่ เขตฮว๋ายโหรว เขตผิงกู่ เขตเหมินโถวโกว อำเภอมี่อวิ๋น และอำเภอเหยียนชิ่ง พื้นที่ส่วนนี้เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรน้ำของกรุงปักกิ่ง

ผู้บริหารฝ่ายการเมือง

นายกัว จินหลง (Guo Jinlong)

เลขาธิการพรรคฯ

นายช่าย ฉี (Cai Qi)

นายกเทศมนตรี

นายหลี่ เหวิ่ย (Li Wei)

ปธ.สภาผู้แทน ปชช

นายจี๋ หลิน (Mr. Ji Lin)

ปธ.สภาที่ปรึกษาการเมือง

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรุงปักกิ่งได้ที่ http://www.ebeijing.gov.cn/

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เขตพื้นที่สำคัญของกรุงปักกิ่ง

1. ศูนย์กลางกรุงปักกิ่ง

1.1 ศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

เขตเมืองชั้นใน ได้แก่ เขตตงเฉิงและเขตซีเฉิง ซึ่งมีความหมายในภาษาจีนว่า เขตเมืองตะวันออกและตะวันตกตามลำดับ
เป็นเขตที่ตั้งอยู่ภายในถนนวงแหวนรอบที่สอง ถนนวงแหวนรอบที่สองนี้เดิมเป็นที่ตั้งของกำแพงเมืองเก่าของปักกิ่ง ดังนั้น พื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นในโดยปัจจุบัน จึงประกอบไปด้วยโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจำนวนมาก อาทิ พระราชวังโบราณหรือกู้กง อุทยานและสระน้ำเป๋ยไห่และโฮ่วไห่ หอบูชาฟ้าเทียนถาน หอระฆังและหอกลอง วัดลามะ วัดขงจื่อ และซอยผู้อยู่อาศัยแบบเก่าที่มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “หูท่ง” ในเขตดังกล่าวนี้ ยังเป็นที่ตั้งของบ้านพักบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนที่มีชื่อเสียงและยังเป็นศูนย์กลางทางการเมืองในปัจจุบัน

1.2 ย่านการค้าสำคัญ

ในเขตตงเฉิงและเขตซีเฉิงนี้ ยังเป็นที่ตั้งของย่านการค้าสำคัญของปักกิ่งอย่างย่านถนนการค้าหวังฝูจิ่ง ซึ่งมีประวัติศาสตร์ย้อนไปตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง ปัจจุบัน หวังฝูจิ่งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า ถนนขายอาหารท้องถิ่น ร้านหนังสือ เป็นต้น ถนนการค้าเฉียนเหมิน ซึ่งตั้งอยู่ถัดออกไปทางทิศใต้จากจัตุรัสเทียนอันเหมิน ก็เป็นถนนการค้าอีกหนึ่งสายที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาให้เป็นถนนคนเดินและเต็มไปด้วยร้านค้าสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังมีย่านการค้าอื่นที่ได้รับความนิยม เช่น ย่านการค้าซีตัน เป็นต้น

1.3 ถนนการเงิน

(Beijing Financial Street) ตั้งอยู่ในเขตซีเฉิง ทางตะวันตกระหว่างฟู่ซิงเหมินและฟู่เฉิงเหมิน เป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญทางธุรกิจการเงินทั้งของภาครัฐ เอกชน และบริษัทจากต่างชาติ อาทิ ธนาคารกลาง คณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร และประกันภัย ธนาคาร China Construction Bank ธนาคาร CITIC Industrial ธนาคาร JP Morgan กลุ่มธุรกิจ Goldman Sachs เป็นต้น

2. เขตรองรับการขยายพื้นที่จากศูนย์กลาง

2.1 เขตศูนย์กลางธุรกิจ CBD—Central Business District

ตั้งอยู่ในเขตเฉาหยางทางฝั่งตะวันออกของเมือง อยู่ระหว่างถนนวงแหวนรอบที่ 3 และรอบที่ 4 ประกอบไปด้วย ที่ตั้งสำนักงานของบริษัทจากทั่วโลก ครอบคลุมสาขาธุรกิจการเงิน บริการ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นที่ตั้งของตึกสำคัญอย่าง China World Trade Center โดยมากกว่าร้อยละ 60 ของบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนตั้งอยู่ภายในเขตศูนย์กลางธุรกิจนี้ นอกจากนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นศูนย์กลางของสื่อสารมวลชน โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติจีน หรือ CCTV และสถานีโทรทัศน์ของปักกิ่ง หรือ BTV

2.2 ย่านจงกวนชุน

“จงกวนชุน” ได้ชื่อว่าเป็น “Silicon Valley” ของจีน โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง ระหว่างถนนวงแหวนรอบที่3 และรอบที่4 ในเขตไห่เตี้ยน จงกวนชุนได้รับการส่งเสริมให้เป็นย่านธุรกิจการค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงหลังการเปิดประเทศ มีศูนย์การค้าสำคัญอย่าง Hailong Guigu และ Taipingyang เป็นต้น และยังมีการส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์ค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยี และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในนาม Zhongguancun Science and Technology Zone บริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียง เช่น ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Lenovo ก็เติบโตขึ้นมาจากการทำธุรกิจในย่านนี้

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

ศูนย์กลางเมืองหลากหลาย (Multiple centres)

กรุงปักกิ่งเป็นเมืองสำคัญที่รัฐบาลต้องการยกระดับให้เป็นศูนย์รวมการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ จึงได้แบ่งพื้นที่เมืองนี้ออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนประกอบด้วยหลายเขตศูนย์กลาง ดังนี้

1. พื้นที่ศูนย์รวมภาคบริการ แบ่งออกเป็น 8 พื้นที่ ได้แก่

  1. เขตศูนย์กลางทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จงกวนชุน (Zhongguancun Science Park)
  2. เขตศูนย์กลางโอลิมปิค (The Olympic Central Area)
  3. เขตศูนย์กลางทางการค้าและธุรกิจ (Central Business District—CBD)
  4. เขตศูนย์กลางนวัตกรรมทางเทคโลยีและวิทยาศาสตร์ไห่เตี้ยนซานโฮ่ว (The Science and Technology Innovation Centre in the Haidian Shanhou Area)
  5. เขตอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ซุ่นอี้ (The Shunyi Modern Manufacturing Base)
  6. เขตศูนย์รวมภาคบริการทงโจว (Tongzhou Comprehensive Services Centres)
  7. เขตศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงอี้จวง (The High – tech Industrial Development Centre in Yizhuang)
  8. เขตศูนย์รวมภาคบริการสือจิ่งซาน (Shijingshan Comprehensive Services Centres)

2. พื้นที่เมืองใหม่

ประกอบ ด้วย 11 เขต ซึ่งแบ่งตามการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละเขต ตำแหน่งที่ตั้ง และการเชื่อมต่อกันของพื้นที่ ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ โดยเขตพื้นที่ที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้ให้ความสนใจ คือ พื้นที่ฝั่งตะวันออกซึ่งประกอบด้วย 3 เขตเมืองใหม่ ได้แก่ เขตเมืองใหม่ทงโจว เขตเมืองใหม่ซุ่นอี้ และเขตเมืองใหม่อี้จวง โดยต้องการให้เขตพื้นที่ทั้งสามนี้เป็นเขตที่ช่วยรองรับความเจริญ และความแออัดจากใจกลางกรุงปักกิ่งจากแนวสองแกน (Two axes) และเป็นเขตที่รวมของอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ เขตทงโจว เขตซุ่นยี่ และเขตอี้จวงนี้ ได้มีการกำหนดจำนวนประชากรไว้ที่ 700,000 – 900,000 คน และคาดการณ์จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในอนาคตไว้ที่ 1,000,000 คน ส่วนเขตต้าซิง เขตชังผิง และเขตฝังซัน ได้มีการกำหนดจำนวนประชากรไว้ที่ 600,000 คน ส่วนเขตพัฒนาอื่นๆ นั้นกำหนดจำนวนประชากรไว้ที่ 150,000 – 350,000 คน

เขตพัฒนาเมืองใหม่ทั้ง 11 เขต ได้แก่

เขตพัฒนาเมืองใหม่ทงโจว

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง มีเนื้อที่ทั้งหมด 907 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นประตูใหญ่ ด้านตะวันออกของกรุงปักกิ่ง โดยห่างจากใจกลางเมืองกรุงปักกิ่ง 20 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง 16 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือเทียนจิน 120 กิโลเมตร เขตทงโจวเน้นการลงทุนในภาคบริการเป็นหลัก รวมถึงธุรกิจด้านการค้า การเงิน การธนาคาร โดยจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางภาคบริการของกรุงปักกิ่ง เพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงปักกิ่งในอนาคต

เขตพัฒนาเมืองใหม่ซุ่นอี้

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ริมแม่น้ำเฉาไป๋ ห่างจากใจกลางเมืองกรุงปักกิ่ง 30 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,020 ตารางกิโลเมตร เน้นการพัฒนา 3 ด้านหลักคือ การขนส่งทางอากาศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยในเขตซุ่นอี้นี้แบ่งออกเป็นสามเขตย่อยได้แก่

  1. เขตแม่น้ำเฉาไป่และพื้นที่ด้านตะวันตก เป็นบริเวณที่เป็นจุดศูนย์กลางและเป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ ในเขตพื้นที่นี้รวมถึงบริเวณตำบลซุ่นอี้เหรินเหอ ตำบลหม่าป๋อ ตำบลหนิวหลานซาน
  2. เขตการขนส่งสินค้าทางอากาศเทียนจู ครอบคลุมเขตบริเวณพื้นที่โลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางอากาศ เขตการแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออกเทียนหลาน และเขตโฮ่วชายู่ ในเขตนี้เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงและการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นสำคัญ
  3. เขตพื้นที่ด้านตะวันออก ซึ่งรวมถึงตำบลเป่ยเสี่ยวหยิง และหนานไฉ่ เป็นพื้นที่เพื่อการรองรับการเจริญเติบโตในการขยายพื้นที่ของการขนส่งสินค้าทางอากาศในเขตซุ่นยี่นี้ต่อไปในอนาคต

เขตพัฒนาเมืองใหม่อี้จวง

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวงแหวนที่ 5 ของกรุงปักกิ่ง อยู่ภายในเขตต้าซิง ห่างจากใจกลางเมืองกรุงปักกิ่ง 16.5 กิโลเมตร ด้านตะวันออกของเขตเป็นเขตอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านตะวันตกของเขตเป็นเขตที่อยู่อาศัย และพื้นที่ตอนกลางของเขตเป็นศูนย์ให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ เป็นต้น เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ติดตั้ง อุตสาหกรรมด้านชีววิทยา เป็นต้น รวมทั้งมีบทบาทด้านธุรกิจโลจิสติกส์

เขตเมืองใหม่หรือเขตพัฒนาต้าซิง

ตั้งอยู่บนแกนทางทิศใต้ตามแผนการพัฒนากรุงปักกิ่ง ห่างจากใจกลางกรุงปักกิ่งประมาณ 10 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 1,036 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำไหลผ่าน 14 สาย เป็นเขตที่มีการคมนาคมสะดวกและมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ ปัจจุบันเน้นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก และจะขยายการพัฒนาไปสู่ด้านอุตสาหกรรมต่อไป

เขตพัฒนาเมืองใหม่เหยียนชิ่ง

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง มีเนื้อที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร ร้อยละ 60 ของเนื้อที่ทั้งหมดเป็นเขตป่าไม้ เป็นเขตเกษตรกรรม เขตท่องเที่ยว และเป็นแหล่งแร่ที่สำคัญของกรุงปักกิ่ง อาทิ ทอง เงิน ทองแดง เหล็ก เป็นต้น ภายในเขตมีเขตพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจเหยียนชิ่ง และเขตพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจปาต๋าหลิ่ง

เขตพัฒนาเมืองใหม่ฝังซัน

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง มีเนื้อที่ 2,019 ตารางกิโลเมตร ตามแผนการพัฒนากรุงปักกิ่ง เขตฝางซานจะได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจสำคัญทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ ต่อไปในอนาคตจะกลายเป็นจุดเชื่อมระหว่างเขตเมืองกับชานเมือง

เขตพัฒนาเมืองใหม่ชังผิง

ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ห่างจากใจกลางเมืองกรุงปักกิ่ง 10 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 1,343.5 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ร้อยละ 59.2 เป็นภูเขา ตามแผนพัฒนากรุงปักกิ่ง กำหนดเป็นเขตสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ขยายไปสู่ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง เขตชางผิงเป็นเขตที่ใช้สำหรับการแข่งขันจักรยาน

เขตพัฒนาเมืองใหม่ฮว๋ายโหรว

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงปักกิ่ง ห่างจากใจกลางกรุงปักกิ่ง 50 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง 72 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 2,128.7 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ร้อยละ 88.7 เป็นเขตภูเขา เป็นเขตที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ เหมาะเป็นที่พักอาศัย เป็นเขตอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของกรุงปักกิ่ง เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

เขตพัฒนาเมืองใหม่ผิงกู่

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง เป็นเขตที่กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ยมาบรรจบกัน มีเนื้อที่ 1,075 ตารางกิโลเมตร ห่างจากใจกลางเมืองกรุงปักกิ่ง 70 กิโลเมตร ห่างจากนครเทียนจิน 90 กิโลเมตร เป็นเขตเกษตรกรรม เขตปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารที่สำคัญ ผลผลิตหลักคือแอปเปิ้ล ธัญพืช และผักสด

เขตพัฒนาเมืองใหม่มี่อวิ๋น

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ติดแนวเทือกเขาเยี่ยนซาน มีเนื้อที่ 2,226.5 ตารางกิโลเมตร ห่างจากใจกลางเมืองกรุงปักกิ่ง 60 กิโลเมตร มีทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรน้ำที่สมบูรณ์ ภายในเขตมีเขตพัฒนาอุตสาหกรรมมี่หยุน ซึ่งเป็นเขตพัฒนาระดับเมือง มีเนื้อที่ 12.6 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เขตพัฒนาเมืองใหม่เหมินโถวโกว

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงปักกิ่ง มีเนื้อที่ 1,455 ตารางกิโลเมตร ร้อยละ 96 ของเนื้อที่ทั้งหมดเป็นเขตภูเขา เป็นเขตเกษตรกรรม เน้นการพัฒนาด้านวัฒนธรรม และด้านบริการ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

การคมนาคมและโลจิสติกส์

ในฐานะเมืองหลวง กรุงปักกิ่งมีระบบการคมนาคมที่ครอบคลุมและทันสมัย เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของจีนตอนเหนือ ปักกิ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ถนนหนทางหลักในเมืองวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ออก-ตก และปัจจุบันมีถนนวงแหวนรอบเมืองทั้งหมด 5 ชั้น มีระบบทางหลวงและทางด่วนเชื่อมโยงปักกิ่งเข้ากับเมืองโดยรอบ

โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของปักกิ่งได้รับการพัฒนาอย่างมากในช่วงหลังปี ค.ศ. 2000 เพื่อเตรียมพร้อมการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2008 มีการขยายระบบรถไฟฟ้าภายในเมืองจากเดิมที่มีเพียง 2 สายเป็น 16 สาย และตามแผนพัฒนาคมนาคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2559-2563) ของกรุงปักกิ่ง กรุงปักกิ่งจะมีเส้นทางรถไฟระบบรางทั้งหมด 26 สายภายในปี 2563 รวมรถไฟใต้ดินและรถไฟจากเขตใจกลางเมืองไปเขตชานเมืองต่าง ๆ ปัจจุบันกรุงปักกิ่งมีการใช้บัตรโดยสารระบบเติมเงิน Yikatong ที่สามารถใช้ได้กับทั้งรถประจำทาง และรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ รัฐบาลเมืองปักกิ่งยังอุดหนุนราคาค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะให้มีราคาต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

เส้นทางทางบก

กรุงปักกิ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ถนนหนทางในกรุงปักกิ่งส่วนมากได้รับการออกแบบ ให้วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ปัจจุบัน ถนนหนทางของปักกิ่งได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย กว้างขวาง และมีการพัฒนาแนวถนนวงแหวนรอบเมืองอีก 6 (จากวงแหวนที่ 2 ถึงวงแหวนที่ 7) ชั้นเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร

โดยวงแหวนที่ 7 มีความยาวประมาณ 940 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่าง กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน มณฑลเหอเป่ย พาดผ่านเขตต้าซิง ทงโจว และพิงกู่ของกรุงปักกิ่ง และ 13 เมืองหลัก รวมไปถึง จางเจียโข่ว จั๋วโจว หลางฝาง และเฉิงเต๋อ ซึ่งคาดว่านอกจากวงแหวนที่ 7 จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรแล้ว ยังสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตกรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย ด้วย

สำหรับการขนส่งระบบรางของปักกิ่งก็ได้รับการพัฒนาอย่างมากในช่วงก่อนและหลังปี ค.ศ. 2008 ที่มีการเตรียมพร้อมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลกลาง

กรุงปักกิ่งยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของจีนตอนเหนือ ตลอดจนภูมิภาคอื่น ๆ ของจีน มีระบบเส้นทางหลวงและทางด่วน เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ทำให้การเดินทางจากเมืองหลวงของจีนแห่งนี้เป็นไปอย่างสะดวก ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง คาดว่า กรุงปักกิ่งจะสร้างวงแหวนที่ 7 เสร็จสิ้นภายในปี 2560 ซึ่งเป็นทางด่วนที่เชื่อมโยงนครเทียนจินและเมืองต่าง ๆ ของมณฑล เหอเป่ยที่อยู่รอบ ๆ กรุงปักกิ่ง

ระบบราง

1.1 รถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าของกรุงปักกิ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของจีน เปิดใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1969 อย่างไรก็ดี เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ ระบบรถไฟฟ้าของปักกิ่งพัฒนาไปอย่างล่าช้า โดยก่อนปี ค.ศ. 2000 ปักกิ่งมีรถไฟฟ้าเพียง 2 สายเท่านั้น

กระทั่งภายหลังได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2008 รัฐบาลเมืองปักกิ่งจึงได้มีการลงทุนในด้านระบบรถไฟฟ้าเพื่อเตรียมความพร้อม นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤตการเงินในปี ค.ศ. 2008 ยังทำให้รัฐบาลจีนมีนโยบายเพิ่มการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบรถไฟฟ้าของปักกิ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

จนถึงสินปี 2559 ปักกิ่งมีรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 18 สาย คิดเป็นระยะทาง 573 กิโลเมตร และมีการตั้งเป้าว่าจะขยายเป็น 1,050 กิโลเมตรภายในปี ค.ศ. 2020 ขณะที่ในด้านจำนวนผู้โดยสาร ปัจจุบันมีผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้าของปักกิ่งมากกว่า 10 ล้านคนต่อวัน

ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 รัฐบาลเมืองปักกิ่งได้อุดหนุนราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้า จากเดิมค่าโดยสารอยู่ระหว่าง 3-7 หยวน มาเป็น 2 หยวนตลอดสาย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้ ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าดังกล่าว ถือว่าต่ำที่สุดในจีน ในขณะที่รถไฟฟ้าสาย Airport Express ที่เชื่อมตัวเมืองกับสนามบินนั้น มีราคาต่อเที่ยวที่ 25 หยวน ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2557 กรุงปักกิ่งได้ปรับค่าตั๋วรถไฟฟ้าอีกครั้ง จาก 2 หยวนตลอดสายเป็น 3-8 หยวนขึ้นอยู่กับระยะการเดินทาง

1.2 เส้นทางรถไฟชานเมือง

กรุงปักกิ่งได้มีการริเริ่มสร้างรถไฟฟ้าสายชานเมือง เชื่อมระหว่างตัวเมืองปักกิ่งและเขตพื้นที่รอบนอก โดยปัจจุบันมีเพียง 1 สายที่เปิดให้บริการในปี ค.ศ. 2008 ได้แก่ สาย S2 เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟสายเหนือและเขตเหยียนชิ่ง ปัจจุบันรถไฟสาย S1 ที่เชื่อมระหว่างเขตไห่เตี้ยนและเขตเหมินโถวโกวกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2015 ขณะที่รถไฟสายอื่น ๆ อยู่ในระหว่างการวางแผน โดยมีการตั้งเป้าหมายว่า ปักกิ่งจะมีรถไฟสายชานเมืองทั้งหมด 6 สายภายในปี 2020 มีความยาวรวมประมาณ 360 กิโลเมตร

1.3 รถไฟระหว่างเมือง

กรุงปักกิ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟ มีเส้นทางครอบคลุมทุกพื้นที่ยกเว้นไต้หวัน โดยมีเส้นทางรถไฟหลักทั้งสิ้น 8 เส้นทาง ได้แก่
เส้นทางไปกว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ฮาร์บิน เป่าโถว ทงเหลียว หยวนผิง เฉิงเต๋อ และฮ่องกง

ปัจจุบัน กรุงปักกิ่งยังมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ ปักกิ่ง-เทียนจิน ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง-กว่างโจว นอกจากนี้ จากสถานีรถไฟในปักกิ่งยังสามารถนั่งรถไฟไปกรุงมอสโควของรัสเซีย กรุงอูลานบาตอร์ของมองโกลเลีย กรุงฮานอยของเวียดนาม และกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้ ปักกิ่งมีสถานีรถไฟหลัก 4 สถานี ได้แก่ สถานีรถไฟปักกิ่ง สถานีรถไฟสายเหนือ (หยุดบริการ 3 ปีตั้งแต่สิ้นปี 2559 เพื่อปรับปรุงภายใน) สถานีรถไฟสายใต้ และสถานีรถไฟสายตะวันตก

ระบบถนนภายในเมือง

1.1 ถนนฉางอัน

ถนนสายสำคัญที่สุดในเชิงสัญลักษณ์ของกรุงปักกิ่ง ได้แก่ ถนนฉางอัน ซึ่งวางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ตัดผ่านด้านหน้าของพระราชวังโบราณและจัตุรัสเทียนอันเหมิน รวมทั้งสถานที่สำคัญอื่นๆ อาทิ มหาศาลาประชาชน ทำเนียบจงหนานไห่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป์แห่งชาติ หวังฝูจิ่ง เป็นต้น ชื่อถนนฉางอันมาจากชื่อเมืองหลวงเก่าของจีน ซึ่งสะท้อนถึงความรุ่งโรจน์ของจีนตั้งแต่ครั้งโบราณ

ถนนฉางอันส่วนหลักเริ่มจากถนนวงแหวนรอบที่ 2 บริเวณซีตัน และสิ้นสุดที่บริเวณตงตัน อย่างไรก็ดี ถนนเส้นดังกล่าวก็ทอดตัวยาวไปถึงเขตสือจิ่งซันทางตะวันตกและเขตทงโจวในทางตะวันออก ด้วยความยาวของถนนสายนี้ ถนนฉางอันจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า The Long Street of Ten Li (十里长街)ในโอกาสครบรอบการสถาปนารัฐจีนในปัจจุบันครบ 60 ปี ถนนฉางอันได้รับการขยายให้มีความกว้างถึง 10 เลน

ถนนฉางอันมีความกว้างถึง 10 เลน

1.2 ถนนวงแหวนรอบเมือง

ถนนภายในกรุงปักกิ่ง มีระบบถนนวงแหวนรอบเมือง โดยปัจจุบัน มีถนนวงแหวนทั้งสิ้น 6 รอบ ได้แก่
ถนนวงแหวนรอบที่ 2 (ในสุด) ถึง ถนนวงแหวนรอบที่ 7 (นอกสุด) ทั้งนี้ ครึ่งบนถนนวงแหวนรอบที่ 2 ได้สร้างทับรอยกำแพงเมืองรอบในของเมืองปักกิ่งเดิม ขณะที่ ถนนวงแหวนอื่นๆเพิ่งได้รับการพัฒนาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ระบบทางหลวง

ณ สิ้นปี ค.ศ. 2016 ทางหลวงทั่วเขตกรุงปักกิ่งมีความยาวรวม 22,026 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นทางด่วนรวม 1,013 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 31 กิโลเมตร

ทางหลวงที่เริ่มต้นจากกรุงปักกิ่ง เริ่มต้นด้วยเลข 1 ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 11 สาย ดังนี้

  • ทางหลวงหมายเลข 101 ปักกิ่ง-เฉิงเต๋อ-เสิ่นหยาง
  • ทางหลวงหมายเลข 102 ปักกิ่ง-ฮาร์บิน
  • ทางหลวงหมายเลข 103 ปักกิ่ง-ถังกู่
  • ทางหลวงหมายเลข 104 ปักกิ่ง-ฝูโจว
  • ทางหลวงหมายเลข 105 ปักกิ่ง-จูไห่-มาเก๊า
  • ทางหลวงหมายเลข 106 ปักกิ่ง-กว่างโจว
  • ทางหลวงหมายเลข 107 ปักกิ่ง-เซินเจิ้น
  • ทางหลวงหมายเลข 108 ปักกิ่ง-คุนหมิง
  • ทางหลวงหมายเลข 109 ปักกิ่ง-ลาซา
  • ทางหลวงหมายเลข 110 ปักกิ่ง-อิ๋นชวน
  • ทางหลวงหมายเลข 111 ปักกิ่ง-เฮยหลงเจียง

ระบบทางด่วน

กรุงปักกิ่ง มีทางด่วนที่เชื่อมกับเขตชานเมืองและเมืองอื่น ๆ รวม 9 สาย ได้แก่

  • ทางด่วนปาต๋าหลิง
  • ทางด่วนปักกิ่ง-เฉิงเต๋อ
  • ทางด่วนเชื่อมสนามบิน
  • ทางด่วนปักกิ่ง-ทงโจว
  • ทางด่วนปักกิ่ง-ฮาร์บิน
  • ทางด่วนปักกิ่ง-เสิ่นหยาง
  • ทางด่วนปักกิ่ง-เทียนจิน-ถังกู่
  • ทางด่วนปักกิ่ง-ไคฟง
  • ทางด่วนปักกิ่ง-สือเจียจวง

เส้นทางทางน้ำ

กรุงปักกิ่ง เป็นเมืองศูนย์กลางทางการคมนาคมทางบก ทางรถไฟ และทางอากาศ แต่เนื่องจากไม่มีพื้นที่ติดทะเล การขนส่งทางน้ำจึงต้องอาศัย นครเทียนจินเป็นหลัก โดยมีท่าเรือหวนป๋อไห่ซีอั้น เป็นท่าเรือศูนย์กลาง และอาศัยท่าเรือของเมืองฉินหวงเต่า มณฑลเหอเป่ย เป็นท่าเรือที่สำคัญในการส่งออกด้านพลังงานถ่านหินไปยังภาคใต้ รวมทั้งเป็นท่าเรือที่ใช้นำเข้าส่งออกสินค้าปริมาณมาก

เส้นทางทางอากาศ

ในฐานะที่เป็นเมืองหลวง กรุงปักกิ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของประเทศจีน มีเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศกว่า 200 เส้นทาง ครอบคลุมทุกมณฑลในจีน โดยมีสนามบินหลักคือสนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง รองรับผู้โดยสารทั้งภายในและภายนอกประเทศ กรุงปักกิ่งยังมีสนามบินอีก 2 แห่ง คือ สนามบินหนานย่วน  และสนามบินแห่งใหม่ สนามบินนานาชาติต้าชิง ที่มีแผนจะเปิดให้บริการในวันที่ 30 กันยายน 2562

1. ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง (Beijing Capital International Airport)

สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่งเป็นสนามบินหลักของเมือง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 20 กิโลเมตร สนามบินประกอบไปด้วย 3 อาคารผู้โดยสาร โดยอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2008 เป็นหนึ่งในอาคารผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบินที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยในปี 2559 มีผู้โดยสารมากกว่า 93 ล้านคน ขณะที่ปริมาณขนส่งสินค้าเข้าออกอยู่ที่ราว 1.9 ล้านตัน

การเดินทางระหว่างสนามบินและตัวเมืองปักกิ่งนั้น ใช้เวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์ราว 40 นาที นอกจากนี้ ยังมีรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินเข้ากับตัวเมืองที่สถานี Sanyuanqiao ของรถไฟฟ้าสาย 10 และสถานี Dongzhimen ของสถานีรถไฟสาย 2 และสาย 13 ใช้เวลาเดินทางราว 30 นาที ค่าโดยสารต่อเที่ยว 25 หยวน

เส้นทางการบินที่สำคัญ

ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงปักกิ่ง – กรุงเทพฯ (ไป – กลับ) เฉลี่ยวันละ 14 เที่ยวบิน จากสายการบิน 6 บริษัท ได้แก่

  • Thai Airways (TG)
  • Air China (CA)
  • Hainan Airlines (HU)
  • Shanghai Airlines
  • China Eastern Airlines
  • Ural Airlines

2. ท่าอากาศยานหนานย่วน (Beijing Nanyuan Airport)

สนามบินหนานย่วน เป็นสนามบินที่ใช้ในทางทหารเป็นหลัก โดยมีเพียงสายการบิน China United Airlines ที่ให้บริการทางพลเรือนภายในประเทศ สนามบินดังกล่าวอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 13 กิโลเมตร ทั้งนี้ สนามบินหนานย่วนเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1910 นับเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศจีน ในปี 2559 มีผู้โดยสารมากกว่า 5.6 ล้านคน ขณะที่ปริมาณขนส่งสินค้าเข้าออกอยู่ที่ราว 26,635 ตัน

3. ท่าอากาศยานนานาชาติต้าซิง (Beijing Daxing International Airport)

สนามบินแห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่ในเขตต้าซิง ห่างออกไปทางใต้ประมาณ 46 กิโลเมตรจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน ห่างจากเมืองหลางฟาง มณฑลเหอเป่ย 26 กม. ห่างจาก Xiongan New Area 55 กม. และสนามบินเดิม (Beijing Capital International Airport) 67 กม. สนามบินนี้ถูกจัดวางให้เป็น airport hub ของจีนภาคเหนือ

สนามบินมีพื้นที่ 7 แสนตารางเมตร 4 Runway จุดจอดเครื่องบิน 268 จุด ตั้งเป้าหมายรองรับเที่ยวบินได้ 6.2 แสนเที่ยวต่อปี ผู้โดยสาร 100 ล้านคนต่อปี และสินค้า 4 ล้านตัน/ปี สำหรับพื้นที่กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย สนามบินแห่งนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 3.9 แสนล้านหยวน คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือน ตุลาคม 2562

โดยสนามบินแห่งนี้ประกอบด้วยเครือข่ายคมนาคม 5 เส้นแนวตั้ง 2 เส้นแนวนอน รวมไปถึง ทางด่วน รถไฟระหว่างเมือง รถไฟความเร็วสูง และรถไฟใต้ดิน นอกจากนี้จีนยังวางแผนสร้าง airport economic zone ที่เป็นศูนย์รวมของ ศูนย์กลางการสื่อสารนานาชาติ ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีการบิน และพื้นที่ทดลองประสานงานการพัฒนา ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย โดยมีสนามบินต้าชิงเป็นศูนย์กลางอีกด้วย

รถไฟใต้ดินที่เชื่อมเข้าตัวเมืองมี 3 สถานี คือ (1) New Airport North Terminal (2) Cigezhuang (3) Caoqiao และในอนาคตมีแผนจะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 14  สาย 16 และ สาย 11

เศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล

1) แผนงาน/เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 (ค.ศ. 2016 – 2020)

  • ยึดมั่นในหลักการพัฒนากรุงปักกิ่งเป็นศูนย์กลางทางการเมือง วัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของจีน รวมถึงการเป็นเมืองน่าอยู่ระดับชั้นนำของโลก
  • GDP เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 6.5 และปริมาณ GDP เพิ่มขึ้น 1 เท่าเมื่อเทียบกับ 2553
  • ภาคบริการครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของ GDP กรุงปักกิ่ง
  • อัตราการว่างงาน (ที่ลงทะเบียน) ไม่เกินร้อยละ 4
  • รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น 1 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2553
  • ควบคุมจำนวนประชากรไม่เกิน 23 คน และจำนวนประชากรในเขตใจกลางเมือง 6 เขตลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2557
  • สั่งปิดบริษัท 1,200 แห่งที่ที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง มุ่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาจราจรติดขัด
  • การใช้พลังงานต่อหน่วย GDP ได้มาตรฐานที่จีนกำหนด
  • ส่งเสริมการรวมตัวของกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย (Beijing-Tianjin-Hebei Integration)
  • ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ครองสัดส่วนร้อยละ 6 ของ GDP กรุงปักกิ่ง

2) แผนงาน/เป้าหมายประจำปี ค.ศ. 2017

  • GDP ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5
  • ควบคุม CPI อยู่ที่ร้อยละ 3.5
  • ควบคุมอัตราการว่างงานทีร้อยละ 3
  • รายได้ของประชาชนมีอัตราเติบโตเท่ากับอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ
  • ผลักดันการสร้างเครือข่ายเส้นทางรถไฟบริเวณกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ยและทางด่วนรอบเมืองหลวง (หรือวงแหวนที่ 7 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของมณฑลเหอเป่ยและกรุงปักกิ่ง) และเพิ่มเส้นทางรถไฟใต้ดินอีก 30 กิโลเมตรภายในปี 2560
  • การใช้พลังงาน การใช้น้ำ และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย GDP ลดลงร้อยละ 3.5 ร้อยละ 4 และร้อยละ 3 ตามลำดับ
  • ลดปริมาณการใช้ถ่านหินร้อยละ 30 ในปี 2560 และควบคุมปริมาณการใช้ถ่านหินไม่เกิน 7 ล้านตัน
  • ควบคุมความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยต่อปีที่ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • เป็นเมืองหลวงของจีน และเป็นศูนย์กลางการเมือง วัฒนาธรรม เทคโนโลยี การศึกษาของจีน
  • เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคตะวันออกของจีน
  • เป็นเมืองที่อุตสาหกรรมภาคบริหารเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดของจีน
  • ปี ค.ศ. 2016 GDP ต่อหัวของกรุงปักกิ่งอยู่ที่ 16,661 ดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับที่ 2 ของจีนรองจากนครเซี่ยงไฮ้
  • 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกจัดตั้งสำนักงานส่วนกลางในกรุงปักกิ่งติดอันดับที่ 2 ของโลกรองจากโตเกียว
  • สำนักงานส่วนกลางของรัฐวิสาหกิจจีนร้อยละ 90 ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง
  • เป็นเมืองที่สถานบานการเงินต่างประเทศตั้งสำนักงานส่วนกลางมากที่สุดของจีน
  • เป็นเมืองที่มีอำนาจในการจำทำนโยบายทางการเงินและตัดสินใจทางการเงินมากที่สุดของจีน
  • เป็นศูนย์กลางคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศของจีน
  • เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของจีน

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

  • นโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านภาษี
    • สำหรับบริษัททุนต่างชาติด้านการผลิตที่ภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปักกิ่ง
      เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงร้อยละ 15
    • สำหรับบริษัททุนต่างประเทศด้านการผลิตที่มีอายุการดำเนินธุรกิจ 10 ปีขึ้นไป นับตั้งแต่ปีที่บริษัทเริ่มได้กำไร
      มีสิทธิ์รับการยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นปีที่ 3 เรียนเก็บภาษาเพียงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 7.5)
  • นโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านบุคคลกร
    • ปักกิ่งมีการให้เงินรางวัลในการซื้อบ้านหรือซื้อรถสำหรับบุคคลระดับสูงของบริษัททุนต่างชาติ
    • สำหรับผู้บริหารระดับสูงของบริษัททุนต่างชาติที่ประสงค์ซื้อบ้านที่ปักกิ่ง จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
    • บุตรของผู้บริหารระดับสูงของบริษัททุนต่างชาติได้รับสิทธิ์เทียบเท่านักเรียนทะเบียนบ้านอยู่ปักกิ่ง โดยสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ปักกิ่งได้
    • บุตรของเจ้าหน้าที่บริษัททุนต่างชาติสามารถสอบที่ปักกิ่งเพื่อรับใบจบมัธยมตอนปลายได้
  • นโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านการเงิน
    • ปักกิ่งมีการลดดอกเบี้ยสำหรับการกู้เงินของบริษัทไฮเทคเพื่อใช้ในการปรับปรุงทางด้านเทคนิค
  • นโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านบริษัทข้ามชาติ
    • หากบริษัทมีการจัดตั้งสำนักงานส่วนกลางที่ปักกิ่ง และมีการใช้กำไร (หักภาษีแล้ว) ไปลงทุนภายในเขตปักกิ่ง จะมีสิทธิ์การรับคืนภาษีตามที่กำหนด
    • สำหรับสำนักงานส่วนกลางของบริษัทข้ามชาติ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของท้องถิ่น

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน